รีเซต

ผังเมืองใหม่เสี่ยงทำกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่สีเขียวรับโลกร้อน

ผังเมืองใหม่เสี่ยงทำกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่สีเขียวรับโลกร้อน
TNN ช่อง16
3 พฤษภาคม 2568 ( 21:43 )
20

สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องรัฐจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน เน้นประชาชนมีส่วนร่วมผังเมือง ชี้กรุงเทพฯ เสี่ยงขาดพื้นที่รับน้ำ-สวนสาธารณะ


เนื่องในวันลดโลกร้อน 22 เมษายนของทุกปี สภาองค์กรของผู้บริโภคได้แสดงความห่วงใยต่อแนวโน้มการลดลงของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ชานเมือง ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้เป็น “ชนบทและเกษตรกรรม” กลับถูกใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น หมู่บ้านจัดสรรและโรงงาน เป็นการเบี่ยงเบนจากผังเมืองเดิม และนำไปสู่การปรับแก้ผังเมืองในภายหลัง ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของประชาชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความบกพร่องของระบบการวางแผนและการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองอย่างชัดเจน

นายก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า แนวโน้มการอนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่สีเขียวมีเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีกฎหมายผังเมืองรองรับ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาน้ำเสีย มลพิษ และการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่เคยทำหน้าที่เป็น “แก้มลิง” ทางธรรมชาติ ก็ถูกลดบทบาทลง ทั้งที่มีความสำคัญต่อการรับน้ำและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากรายงานโครงการ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของเมืองและชุมชน” ภายใต้คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (AWGESC) ระบุว่า มาตรฐานพื้นที่สีเขียวเพื่อบริการของไทยควรมีอย่างน้อย 5 ตารางเมตรต่อคน และควรอยู่ในระยะไม่เกิน 500 เมตรจากที่อยู่อาศัย แต่ในร่างผังเมือง กทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 กลับจัดสรรพื้นที่สีเขียวไปทางฝั่งตะวันออกและตะวันตก โดยไม่สัมพันธ์กับความหนาแน่นของพื้นที่ชุมชน

อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ เสนอให้รัฐพิจารณาทบทวนการใช้พื้นที่ว่างของรัฐ เช่น พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กองทัพ ท่าเรือ และสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ที่อยู่อาศัยราคาถูก หรือสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้จริง และตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

“การวางผังเมืองไม่ควรเอื้อแต่การเติบโตของภาคธุรกิจ แต่ควรเป็นกลไกในการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นธรรมด้านพื้นที่ต่อประชาชนส่วนใหญ่” นายก้องศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคยังเน้นย้ำว่า การจัดทำผังเมืองต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองจะส่งผลต่อโครงสร้างระบบคมนาคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง การฟังเสียงของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จึงเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ผังเมืองตอบโจทย์การใช้ชีวิต และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง