ไขคำตอบ.. ทำไมคนเรา ถึง “อ้วนง่าย” เมื่ออายุมากขึ้น
เมื่ออายุมากขึ้น หลายคนประสบปัญหาน้ำหนักตัว แม้จะออกกำลังกายเป็นประจำ หรือพยายามควบคุมน้ำหนัก แต่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ง่ายเหมือนตอนวัยรุ่น
ต้นตอของน้ำหนักที่มากขึ้นนั้น เนื่องจากการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลง การทำงานที่สอดคล้องกับระบบประสาทลดลง ร่วมกับระดับฮอร์โมนต่างๆ ทำงานได้น้อยลงและปรับตัวช้าลง เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต เป็นต้น
เหตุปัจจัยข้างต้นทำให้ความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ข้าลง ซึ่งส่งผลทำให้การเผาผลาญพลังงานในคนสูงอายุลดลง จึงทำให้คนสูงอายุมีโอกาสอ้วนง่าย จากการเผาผลาญที่ลดน้อยลง ดังนั้น การออกกำลังกายที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง ยังช่วยเพิ่มกระบวนการเผาผลาญจากกิจกรรมที่เราทำได้มากขึ้น
ทั้งนี้ โรคอ้วนไม่ได้นับเฉพาะการมีน้ำหนักตัวมาก แต่เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
ในผู้สูงอายุต้องระวังภาวะ “อ้วนลุงพุง” จากการสะสมของไขมันในช่องท้องมากเกินไป ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญอาหารผิดปกติ ไขมันหน้าท้องแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งจะยับยั้งกระบวนการเผาผลาญกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ตีบ หรืออุดตัน
ในผู้หญิงมากกว่า ร้อยละ 30 และในผู้ชายมากกว่า ร้อยละ 25 เป็นโรคอ้วน และถ้ารอบเอวเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานได้มาก 3-5 เท่า เลยทีเดียว
—————
ที่มา:
- นพ.สิระ กอไพศาล สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ และเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล