"ลานีญ่า" ส่งจีดีพีเกษตร ไตรมาสแรก เติบโตร้อยละ 3

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2568 (มกราคม - มีนาคม 2568) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าสู่สภาวะลานีญาตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ทำให้มีฝนตกมากขึ้นต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2568 ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติมากกว่าปีที่ผ่านมา และสภาพอากาศโดยทั่วไปเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกพืช ในพื้นที่ที่เคยปล่อยว่าง ประกอบกับมีการบริหารจัดการฟาร์มและดูแลเฝ้าระวังโรคในสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ทุกสาขาการผลิตขยายตัว ทั้งสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และ สาขาป่าไม้
โดย สาขาพืช ปรับตัวขยายสูงสุด ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น และสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืช ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และมีฝนตกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่าง ประกอบกับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ข้าวนาปรัง เนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกมากขึ้นในช่วงปลายปี 2567 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2568 ส่งผลให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก และเกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาปรังที่เคยปล่อยว่าง อ้อยโรงงาน เนื่องจากในช่วงปลายปี 2567 มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับเกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากแรงจูงใจด้านราคาอ้อยโรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ยางพารา เนื่องจากต้นยางพาราที่สามารถกรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี ปัญหาโรคใบร่วงลดลง และราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาและมีการกรีดยางเพิ่มขึ้น ลำไย เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลมากกว่า ปีที่ผ่านมาที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง ประกอบกับราคาลำไยในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการดูแลรักษาและเอาใจใส่มากขึ้น สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเกษตรกรบางรายปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวเพิ่มขึ้น จากราคาข้าวในช่วงที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง มันสำปะหลัง เนื่องจากพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่เพาะปลูกหลักทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับการขาดแคลนท่อนพันธุ์คุณภาพดี ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง สับปะรดปัตตาเวีย เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกหลัก ในภาคกลางตอนล่างทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี มีอากาศร้อนและฝนตกน้อย ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลสับปะรดแคระแกรน ไม่สมบูรณ์ และมีผลผลิตต่อไร่ลดลง ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 มีสภาพอากาศร้อน แห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ทะลายที่ออกในช่วงต้นปี 2568 แห้งฝ่อ จำนวนทะลายลดลง ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ทุเรียน และ เงาะ ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในช่วงที่มีการออกดอก ทำให้ผลผลิตทุเรียนและเงาะนอกฤดูทางภาคใต้ที่ออกในช่วงไตรมาส 1 ลดลง และ มังคุด ผลผลิตลดลง เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลในแหล่งผลิตสำคัญทางภาคตะวันออกและภาคใต้ลดลง จากการที่เกษตรกรโค่นต้นมังคุดไปปลูกต้นทุเรียนแทน ส่งผลให้ผลผลิตมังคุดนอกฤดูน้อยลง
นอกขจากนี้ สาขาบริการทางการเกษตรมีการขยายตัวร้อยละ 3.7 สาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 1.2 สาขาประมงขยายตัวร้อยละ 0.4 และสาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.1
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ประกอบกับการขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ และราคาปัจจัยการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัจจัยภายนอก อย่างเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัว มาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่อาจส่งผลต่อโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรทั้งในระยะเร่งด่วน อาทิ เตรียมพร้อมรับมือต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การรับมือและเฝ้าระวังกับสถานการณ์โรคใบร่วงยางพารา การแก้ปัญหาการขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง การลดต้นทุนการผลิต การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในระยะต่อเนื่อง อาทิ การจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรสามารถมีที่ดินทำกินของตนเอง การพัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร การส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การสงเสริมเกษตรกร สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และต่อยอดสู่เกษตรมูลค่าสูง การส่งเสริมการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนา Soft Power จากภาคเกษตร เป็นต้น