รีเซต

จับสัญญาณ "อยากฆ่าตัาย" ในวิกฤตโควิด-19 เราจะช่วยได้อย่างไร?

จับสัญญาณ "อยากฆ่าตัาย" ในวิกฤตโควิด-19 เราจะช่วยได้อย่างไร?
Ingonn
29 มิถุนายน 2564 ( 13:42 )
421
จับสัญญาณ "อยากฆ่าตัาย" ในวิกฤตโควิด-19 เราจะช่วยได้อย่างไร?

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ทำให้หลายคนเลือกจบปัญหาชีวิตลงด้วยการ "ฆ่าตัวตาย" เพราะด้วยเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือไม่เพียงพอต่อการสูญเสีย ทำให้เกิดภาวะความเครียด ภาวะซึมเศร้าได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน จึงจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องสำรวจตัวเองหรือสำรวจคนรอบข้างที่อาจมีความเสี่ยง อยากฆ่าตัวตาย เพื่อจบทุกปัญหาจากวิกฤตพิษโควิด-19 นี้

 

 

แต่ความจริงแล้ว ยังมีความหวังที่ทุกคนจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกันได้ ด้วยการการจัดการและเอาชนะความรู้สึกอยากตายที่เกิดขึ้น ซึ่งมีหลายวิธี และวันนี้ TrueID ได้รวบรวมมาไว้แล้ว

 

 

 

"ในวันที่คุณอาจรู้สึกว่าไม่เหลือใครอาจยังมีใครที่ยังห่วงใยคุณอยู่"

 

 

สำรวจสถิติการฆ่าตัวสำเร็จ 


ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน จากกรมสุขภาพจิต

 

ปี 2560 มีประชากร 100,000 คน มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 6 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานและลูกจ้างทั่วไป

 


ปี 2561 ในจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย 100,000 คน ฆ่าตัวตายสำเร็จ 6-6.5 คน

 


ปี 2562 ในจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย 100,000 คน ฆ่าตัวตายสำเร็จ 6.36-6.6 คน 

 


ปี 2563 ในจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย 100,000 คน ฆ่าตัวตายสำเร็จ 7.37 คน สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 11% ซึ่งช่วงนั้นได้มีโรคโควิด-19 ตลอดปี

 


ปี 2564 ตั้งแต่ต้นปี - พฤษภาคม มีผู้ฆ่าตัวตายเฉลี่ยพอ ๆ กับปีที่แล้ว

 

 

หากจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มช่วงอายุ 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด 11.46% รองลงมากลุ่มผู้สูงอายุ ระหว่าง 75-79 ปี สูง 11.37%

 

 


การฆ่าตัวตาย  เกิดจากหลายสาเหตุ  แต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย  เกิดจาก "โรคซึมเศร้า" คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีความรู้สึกเบื่อรุนแรงแทบทุกอย่างในชีวิต  เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป  ความเศร้าที่รุนแรงมากๆอาจทำให้คิดว่าตนเองผิด ไร้ค่า และคิดอยากตาย การตายจึงเป็นเหมือนทางออกของปัญหาในระยะสั้น ไม่ต้องเผชิญปัญหาต่อไป ความคิดของคนจะฆ่าตัวตาย มักไม่เห็นหนทางแก้ไขปัญหา ชีวิตมืดมน และหมดหวัง ทั้งๆที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย

 

1. ปัญหาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ทั้งคนรัก คนในครอบครัว และคนใกล้ชิด 

 


2. ปัญหาสุขภาพทางจิตและสุขภาพกาย เช่น มีภาวะซึมเศร้า มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

 


3. ปัญหาความเครียดเรื่องเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ทำให้คนตกงาน ทำธุรกิจขาดทุน หมดตัว เงินใช้จ่ายในครอบครัวไม่เพียงพอ หาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้

 


4. ปัญหาการใช้สุรา และสารเสพติด อันนี้ดื่มหรือเสพมาก ๆ ทำให้ขาดสติ ทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตได้

 

 

 

สำรวจตัวเองและคนรอบข้างว่าอยากฆ่าตัวตายรึเปล่า


การฆ่าตัวตายมักเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า สังเกตอาการได้ดังนี้


• อารมณ์ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม ไม่มีความสุข เบื่อ ท้อแท้  เครียด หงุดหงิด และเศร้า

 


• หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก มีความสุข ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร

 


• เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก (หรือบางคนกินมากเพื่อให้หายเครียด น้ำหนักเพิ่มขึ้น)

 


• นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงแล้วนอนต่อไปไม่ได้ (แต่บางคนนอนมากขึ้นเนื่องจากไม่อยากทำอะไร  นอนแต่ก็ไม่หลับ)

 


• เหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร

 


• ความคิดช้า  การเคลื่อนไหวช้า

 


• สมาธิความจำเสีย ตั้งใจทำงานไม่ได้ ลังเลตัดสินใจลำบาก

 


• คิดว่าตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดต่อตัวเองไม่ดี

 


• อยากตายและฆ่าตัวตาย

 

 


คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายนั้น  บางทีแสดงออกเป็นพฤติกรรมให้รู้ได้  เช่น


• บางคนเปรยๆให้คนใกล้ชิดฟัง  เช่น “รู้สึกเบื่อจัง  ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

 


• บางคนพูดเป็นเชิงฝากฝัง  สั่งเสีย  เช่น  “ฝากดูแลลูกด้วยนะ”

 


• บางคนดำเนินการบางอย่าง  เช่น  ทำพินัยกรรม โอนทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน
       

 

 

ถ้าสงสัยว่าคิดฆ่าตัวตายหรือไม่  ควรถามการถามเรื่องการฆ่าตัวตายนี้สำคัญมาก  สามารถทำได้ และควรทำอย่างยิ่งเพราะช่วยรักษาชีวิตผู้ที่อยากฆ่าตัวตายไว้ได้

 

 


การถามเรื่องฆ่าตัวตาย  ทำได้โดยใช้ชุดคำถามขั้นบันไดดังนี้


1. เมื่อพบว่ามีอารมณ์ซึมเศร้าให้ถามต่อไปว่า “ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิต หรือไม่”

 


2. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดอยากตาย หรือไม่”

 


3. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำหรือไม่”

 


4. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำอย่างไร”

 


5. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือไม่”

 


6. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำอย่างไร”

 


7. สุดท้าย ให้ถามต่อไปว่า “มีอะไรยับยั้งใจ จนทำให้ไม่ได้ทำ หรือหยุดความคิดนี้ได้”
       

 

คำถามสุดท้าย ไม่ว่าตอบอย่างไร จะเป็นปัจจัยป้องกัน ช่วยให้เขายั้งคิด ไม่ทำในครั้งต่อไป บางคนมีความเชื่อเก่าที่ไม่ถูกต้องว่า การถามเรื่องการฆ่าตัวตาย  จะไปกระตุ้นคนที่ยังไม่คิดให้ไปคิดฆ่าตัวตาย หรือคนที่คิดอยากตายอยู่แล้วการถามเป็นการกระตุ้นให้ทำจริงๆ ความเชื่อเหล่านี้ไม่เป็นความจริง 

 

 

ซึ่งความจริงคือ การถามไม่ได้ชักจูงหรือกระตุ้นให้คิดหรือทำ แต่สำหรับคนที่คิดจะทำอยู่แล้ว จะรู้สึกดีขึ้นจนไม่ทำ

 

 

 

วิธีการจัดการกับความคิดฆ่าตัวตาย


1.พูดคุยกับคนที่คุณรู้สึกไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท บุคคลใกล้ชิดในครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตหรือการโทรศัพท์ขอรับบริการสายด่วนสุขภาพจิต เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของคุณ เพื่อได้มีโอกาสระบายความรู้สึกและขอความช่วยเหลือได้ เพราะการพูดคุยกับคนอื่นอาจช่วยให้คุณได้รับการการปลอบใจ มีมุมมองต่อปัญหาหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างออกไปจากเดิม และเรียนรู้วิธีการจัดการณ์กับความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้นได้อย่างเหมาะสม และปลอดภัย

 


2.เขียนไดอารี่ หากไม่มีใครที่คุณรู้สึกว่าสามารถพูดคุยด้วยได้ การเขียนระบายความรู้สึกลงในไดอารี่อาจช่วยได้ หรืออาจใช้งานศิลปะในรูปแบบต่างๆที่ถนัดหรือชื่นชอบมาเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระบายความรู้สึกกดดันต่าง ๆ ออกมา

 


3.ปรับวิธีคิด การปรับวิธีคิดให้แตกต่างไปจากเดิมอาจช่วยให้เรารู้สึกยืดหยุ่น หาทางออกในการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น เช่น 


• การฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางเลือกเดียวในการแก้ปัญหา หากคุณคิดวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นไม่ได้ นอกจากการฆ่าตัวตายก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีวิธีการอื่นๆในการแก้ปัญหา เพียงแต่ความเจ็บปวดทางจิตใจที่รุนแรงที่คุณประสบอยู่ในขณะนี้ ได้บิดเบือนความคิดของคุณ จึงทำให้เป็นการยากที่จะมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้จริง นอกจากนี้ยังมีผู้คนที่อาจช่วยให้คุณมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่คุณอาจไม่ได้ตระหนักหรือนึกถึงมาก่อน เช่น จิตแพทย์ นักบำบัด ผู้ให้คำปรึกษา เพื่อน คนที่คุณรัก ฯลฯ จะเป็นการดีถ้าคุณเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับฟังและมีส่วนช่วยเหลือคุณ

 


• ภาวะวิกฤตการฆ่าตัวตายมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แม้จะดูเหมือนว่าความเจ็บปวดและความทุกข์ทางจิตใจของคุณจะไม่มีวันสิ้นสุด แต่สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไว้ก็คือภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและเป็นไปได้เสมอเมื่อเวลาผ่านไปจะพบวิธีการแก้ไขปัญหาที่ช่วยให้มีความรู้สึกเปลี่ยนไปหรือ มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในเชิงบวกเกิดขึ้นได้

 


• แม้จะรู้สึกหมดหวังกับปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ก็ยังมีทางออกที่ดีเสมอ ปัญหาที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคจิตเภทและโรคอารมณ์สองขั้ว สามารถรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การบำบัดและการรักษาทางยา คนส่วนใหญ่ที่แสวงหาความช่วยเหลือจะสามารถปรับเปลี่ยนให้อาการดีขึ้นและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ อย่ายอมแพ้ก่อนที่คุณจะพบวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะกับคุณ แทบทุกปัญหามีทางออกที่ดีที่สุดได้แม้อาจจะไม่ถูกใจคุณมากที่สุดก็ตาม

 


• ปรับความคิดให้เห็นตรงกับความเป็นจริงว่าทุกสิ่งไม่ได้เป็นไปตามความอยากหรือต้องการของเรา แต่จะเป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดหวังอันเนื่องมาจากสัมพันธภาพกับบุคคลใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็น คนรัก พ่อแม่ พี่น้องหรือเพื่อน คุณอาจอยากหรือต้องการให้บุคคลเหล่านี้ มีพฤติกรรมหรือการกระทำอย่างที่เราต้องการและเมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็รู้สึกเครียด ท้อแท้ สิ้นหวัง และอยากฆ่าตัวตาย โปรดระลึกไว้ว่า เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่เพราะคนเหล่านั้นไม่ทำหรือเป็นอย่างที่เราต้องการ หากแต่เป็นเพราะความอยากของตัวเราเอง ถ้าเราตัดความอยากของเราออกไป ยอมรับคนอื่นอย่างที่เป็น และหันมาปรับเปลี่ยนใจของตนเองให้ทำหน้าที่ บทบาทของตัวเองให้ดีที่สุดตามศักยภาพของตัวเอง จะพบว่าความทุกข์ใจของเราก็จะลดลงไปได้มาก

 

 


4.ชะลอหรือผัดผ่อนยืดเวลาที่จะทำลายชีวิตตัวเองออกไป โดยสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ทำลายชีวิตของตัวเองในตอนนี้ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกทุกข์ ทรมานใจมากเพียงใด ควรเว้นระยะห่างของช่วงเวลาระหว่างความคิดและการกระทำ อาจเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ไม่มีความจำเป็นที่คุณต้องทำให้ความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องจริงและไม่มีใครเป็นผู้กำหนด ขีดเส้นตายหรือผลักดันให้คุณต้องทำตามความคิดเหล่านี้ในทันที

 


5.ฝึกปล่อยวางความคิด หมั่นสังเกตใจตนเองว่ามันคิดอะไร ถ้าคิดแล้วทุกข์ก็ฝึกปล่อยวาง เป็นการเว้นวรรคความคิดอย่างหนึ่ง โดยหัดดึงใจกลับมารับรู้อยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ฝึกทำไปเรื่อยๆคุณจะเกิดความรู้ว่า แม้แต่ใจของตัวเอง จะพยามประคองให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน กับลมหายใจก็ยังยาก เพราะฉะนั้นการจะไปเปลี่ยนความคิดและการกระทำของคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่ามากนัก ความคิดอยากฆ่าตัวตายก็เป็นเพียงแค่ความคิดถ้าเราไม่สนใจมันก็จะผ่านไป

 


6. ออกกำลังกายอย่างจริงจัง และมากมากเท่าที่คุณทำได้อย่างปลอดภัย และไม่เกิดอันตรายใด ๆ กับร่างกาย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการออกกำลังกายคุณควรตั้งเป้าหมายไว้ที่ 30 นาทีต่อวัน โดยอาจเริ่มต้นจากการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง 10 นาที 3 ครั้งต่อวัน ซึ่งการออกกำลังกายจะส่งผลดีต่อเรื่องอารมณ์ ช่วยปรับอารมณ์ให้รู้สึกดีขึ้นและผ่อนคลาย

 

 

7.จัดตารางชีวิตประจำวัน เขียนตารางชีวิตประจำวันว่าต้องทำอะไร เวลาไหนในทุกๆวันและพยามทำตามแผนที่วางไว้ให้มากที่สุดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ว่าบางครั้งคุณอาจรู้สึกไม่อยากทำก็ให้ลงมือทำเพราะคุณจะรู้สึกดีขึ้นที่สามารถเอาชนะใจตนเองได้ และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีกฎเหล็กที่ต้องระลึกไว้เสมอในการทำตามแผนตารางชีวิตประจำวัน คือ ขี้เกียจก็ทำ ขยันก็ทำ การฝืนใจทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตตัวเองนั้น มักให้ผลลัพธ์ที่ดีและคุ้มค่าเสมอ

 

 

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ , ผศ.นพ.พนม  เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , กรมสุขภาพจิต

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง