รีเซต

บุกถึงโรงงาน ! รถเมล์-รถหัวลาก EV ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports Weekly

บุกถึงโรงงาน ! รถเมล์-รถหัวลาก EV ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports Weekly
TNN ช่อง16
6 มีนาคม 2566 ( 13:37 )
80
บุกถึงโรงงาน ! รถเมล์-รถหัวลาก EV ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports Weekly


ธุรกิจต้องไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม !!


ในประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของโลก อย่างสหรัฐฯหรือประเทศในแถบยุโรป ต่างประกาศชัดเจนว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สินค้าที่จะนำเข้ามาขายจากต่างประเทศจะต้องมีกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แม้แต่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้งรถบ้าน รถที่ใช้ในโรงงาน ทั้งรถขนส่งวัตถุดิบ วัสดุ ชิ้นส่วน หรือรถขนส่งสาธารณะก็ต้องเป็นรถ EV หรือรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น 


ซึ่งความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือร่วมใจกัน ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น 



ประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างไร ?


ในประเทศไทยเราเอง ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วจากหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายบนเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP27 ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือร้อยละ 40 ภายในปี 2030 และภายในปี 2065 จะก้าวเข้าสู่สภาวะไม่ผลิตก๊าซเรือนกระจกหรือ Net Zero 


โรงงานผลิตรถ EV แห่งแรกในเมืองไทยที่มีเจ้าของเป็นคนไทย !?


"Nex Point" คือ โรงงานผลิตรถ EV แห่งแรกในเมืองไทยที่มีเจ้าของเป็นคนไทย ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับบริษัท ไทยสมายบัส เพื่อสร้างรถเมล์ EV ใช้วิ่งร่วมกับ ขสมก. 



การออกแบบรถเมล์ EV คันแรกของประเทศไทย


ระบบการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับรถเมล์ไฟฟ้านั้น มีบางอย่างที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน นั่นก็คือ "การออกแบบที่นึกถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือพื้นที่การใช้งานมาเป็นอย่างดี"


  • รถขนส่งไฟฟ้าที่ใช้เดินทางข้ามจังหวัด แบตเตอรีจะต้องตอบโจทย์ทั้งความเร็วในการชาร์จและปริมาณความจุของแบต โดยจะต้องเพียงพอต่อการใช้งาน  

  • รถหัวลาก ที่มีการใช้งานหลากหลาย การวิ่งอาจจะอยู่ที่ระยะทางประมาณ 800 - 1,000 กิโลเมตร รถประเภทนี้จะถูกออกแบบลักษณะการใช้งานให้เป็น Fast charge คือความสามารถในการชาร์จต่อครั้งทำได้เร็ว โดยหากชาร์จด้วยเวลาเพียง 15 นาที จะเก็บพลังงานได้มากถึง 90% สำหรับลูกค้าที่วิ่งในเส้นทางที่ไม่ไกลมาก จะใส่แบตเตอรีให้เพียงพอต่อการใช้งานของรถคันนั้น ๆ

  • รถเมลล์ไฟฟ้าทั่วไป ตัวแบตเตอรี่จะถูกออกแบบให้ติดตั้งเอาไว้อยู่บนหลังคารถ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมแบตเตอรี ในช่วงที่มีฝนตก นอกจากนี้ตัวรถยังมีระบบป้องกันน้ำ และยังสามารถตรวจสอบรถได้จากระยะไกลอีกด้วย


"รถ EV หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ อาจจะกังวลว่ารถ EV จะไฟไหม้หรือเปล่า เวลาลุยน้ำจะมีปัญหาหรือเปล่า สำหรับรถที่ผลิตโดยบริษัทเรา จะมีการ Protection ตัวน้ำที่จะใกล้เคียงกับ iPhone ที่สามารถอยู่ใต้น้ำนานกว่า 3 ชั่วโมงก็ยังไม่เป็นอะไร"



ขั้นตอนการออกแบบรถเมล์ EV


1. ออกแบบรถตามความต้องการของผู้สั่งซื้อ  

2. ตัดเหล็กเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อนำมาขึ้นโครงรถเมล์

3. นำมาพ่นสี ตกแต่งลวดลายและเคลือบสนิมทั้งคัน

4. โครงทั้งหมดจะถูกนำมาประกอบให้เป็นตัวรถ 

5. ตกแต่งภายในและเดินระบบไฟฟ้าทั่วทั้งคัน

6. ตรวจสอบคุณภาพของรถอย่างละเอียด 

7. ส่งต่อให้กับบริษัทเดินรถ เพื่อนำไปให้บริการให้กับประชาชน  


"รถ EV มันเหมือน iPhone ที่เคลื่อนที่ได้ เราสามารถที่จะใส่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไป อย่างรุ่นที่เรากำลังจำหน่ายในขณะนี้ เราติดตั้งระบบที่เรียกว่า ECS  EV control system ซึ่งระบบนี้สามารถที่จะตรวจสอบรถได้ทั้งคัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่บนรถ สามารถที่จะตรวจสอบคนขับรถได้ การใช้งานของรถได้ สามารถที่จะตรวจสอบ การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้"



อัตราเร่งของรถ EV กับรถทั่วไปแตกต่างกันอย่างไร ?


รถ EV ถือว่ามีแรงบิดมากกว่ารถที่ใช้น้ำมันทั่วไปตั้งแต่ออกตัว สามารถให้แรงบิดได้ทันทีที่เหยียบคันเร่ง ทำให้ตัวรถมีอัตราเร่งดีกว่า แต่ถ้าหากนำมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้เป็นขุมพลังงานให้กับรถขนาดใหญ่ อย่างรถเมล์ รถบรรทุกและรถหัวลาก ที่ต้องใช้บรรทุกของหนัก ๆ ขนส่งคนจำนวนมาก หรือบางทีก็ต้องขึ้นเนินด้วย คำถามคือ "อัตราเร่งจะยังคงแรงอยู่หรือไม่ ?"


  • รถของ Nex Point ปัจจุบัน คันใหญ่สุดมีน้ำหนักอยู่ที่ 99 ตัน ถูกเรียกว่า "คิงอ๊อฟโร้ด" ซึ่งขนของ 90 ตัน สามารถที่จะขึ้นเนินได้ เพราะฉะนั้นรถทั่วไปที่มีน้ำหนักน้อยกว่าจึงไม่มีปัญหาเรื่องอัตราเร่ง



ข้อเสียในปัจจุบันสำหรับรถเมล์ EV คืออะไร ?


ปั๊มชาร์จพลังงานไฟฟ้า คืออุปสรรคสำหรับรถ EV ในขณะนี้ โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่อย่างรถเมล์หรือรถหัวลาก ที่ต้องเจอข้อจำกัดในเรื่องของขนาดพื้นที่ปั๊ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาะกับขนาดของรถทั่วไปเท่านั้น ซึ่งทางของ Nex Point ได้แก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มจำนวนแบตเตอรีเข้าไปในตัวรถ แต่ก็ต้องแลกมากับการบรรทุกสิ่งของได้น้อยลง 


ลูกค้าของ Nex Point คือใคร ?


ปัจจุบันลูกค้าหลักที่สนใจนำรถขนส่ง EV ไปใช้งาน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชน และเริ่มมีการประมูลนำไปใช้งานแล้วในหน่วยงานภาครัฐ เป้าหมายในอนาคตของ Nex Point คือการเข้าถึงผู้บริโภคทุกระดับ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทยให้ก้าวไปข้างหน้า


"อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศไทยเรา นั่นคือการที่เราสามารถที่จะหาวิธีการลดต้นทุน นั่นหมายถึงว่าเราจะเพิ่มจุดแข็งในการแข่งขันให้กับทางผู้ประกอบการ ไม่ว่ามองในระดับไหน การใช้รถไฟฟ้าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทั้งภาคเอกชนและภาคราชการต้องร่วมแรงร่วมใจให้เราไปถึงจุดนั้นให้ได้"


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง