ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือ "Megaquake" เผยแผนใช้ AI ลดผู้เสียชีวิตสูงสุด 300,000 คน

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังยกระดับแผนรับมือภัยพิบัติด้วยการผสานรวมเทคโนโลยีล้ำสมัยและปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (Megaquake) ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในร่องน้ำนันไก (Nankai Trough) โดยมีเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่อาจสูงถึง 298,000 ราย และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 72 ล้านล้านบาท
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ร่องน้ำนันไก (Nankai Trough)
เนื่องจากคณะกรรมการของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ปัจจุบันโอกาสเกิดแผ่นดินไหวโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 โมเมนต์แมกนิจูด (Mw) หรือสูงกว่าในร่องน้ำนันไกที่จากเดิมอยู่ที่ 75% พุ่งสูงขึ้นเป็น 82% รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเร่งปรับปรุงแผนรับมือแผ่นดินไหวฉบับปี 2014 โดยตระหนักว่าแผนเดิมอาจลดอัตราการเสียชีวิตได้เพียง 20% เท่านั้น
จากการประมาณการความเสียหายฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด แผ่นดินไหวในร่องนันไกอาจคร่าชีวิตผู้คนได้ถึง 298,000 ราย และทำลายอาคารกว่า 2.35 ล้านหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเตรียมพร้อมรับมือ
แผนกลยุทธ์ที่อาจมีการปรับปรุงใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่น
สืบเนื่องจากแผนปี 2014 แผนกลยุทธ์ที่อาจมีการปรับปรุงใหม่ที่มุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือภัยพิบัติ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะ AI หรือระบบโทรคมนาคมที่ดีมากยิ่งขึ้น เช่น
- ระบบเตือนภัยล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ ที่เป็นการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ AI จะช่วยให้สามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังประชาชนและหน่วยงานฉุกเฉินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดเวลาตอบสนองและเพิ่มโอกาสในการอพยพ
- ใช้แพลตฟอร์มการจัดการภัยพิบัติที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยการนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหว รูปแบบการอพยพ และการกระจายทรัพยากร เพื่อวางแผนและจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- การใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์และฝึกซ้อมประชาชน ผ่านการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง VR และ AR ในการฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่สามารถซ้อมรับมือสถานการณ์จริงได้อย่างสมจริงและปลอดภัยมากขึ้น
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อช่วยชีวิตผู้คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง 80% และจำนวนบ้านเรือนที่ถูกทำลายลง 50% ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวร่องน้ำนันไก
ญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวสูงที่สุดในโลก ได้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1946 และ "เมกะแผ่นดินไหว" ใต้ทะเลเมื่อปี 2011 ที่ก่อให้เกิดสึนามิและวิกฤตนิวเคลียร์ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ญี่ปุ่นกำลังสร้างมาตรฐานใหม่ในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติธรรมชาติระดับโลก
เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสั่นสะเทือนรุนแรงหรือคลื่นสึนามิสูง ภายในทศวรรษหน้า บ้านเรือนทุกหลังในพื้นที่เสี่ยงจะได้รับการปรับปรุงให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับศูนย์พักพิงอพยพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แผนพื้นฐานนี้ยังได้ระบุเป้าหมายเชิงตัวเลขกว่า 200 รายการสำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการ และจะมีการติดตามความคืบหน้าของมาตรการเหล่านี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และจะมีการสนับสนุนความพยายามในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
