รีเซต

4 ชม.ชีวิตต่อชีวิต! เปิดเบื้องหลังภารกิจส่งต่อหัวใจ ความหวังเพื่อผู้ป่วยวิกฤติ

4 ชม.ชีวิตต่อชีวิต! เปิดเบื้องหลังภารกิจส่งต่อหัวใจ ความหวังเพื่อผู้ป่วยวิกฤติ
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2563 ( 14:42 )
358
4 ชม.ชีวิตต่อชีวิต! เปิดเบื้องหลังภารกิจส่งต่อหัวใจ ความหวังเพื่อผู้ป่วยวิกฤติ

หลังจาก เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เครือซีพี สนับสนุนภารกิจเร่งด่วนรพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ส่งสยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จัดไฟล์ทพิเศษเหมาลำนำทีมแพทย์ผ่าตัด บินตรงรับหัวใจ ไต และดวงตาจากผู้บริจาคที่บุรีรัมย์ กลับมาเปลี่ยนถ่ายให้ผู้ป่วยที่กรุงเทพฯ ทีมข่าว TNN ช่อง16 ได้มีโอกาส สัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจ นพ.พัชร อ่องจริต แพทย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมที่บินไปรับหัวใจกลับมาผ่าตัดให้ผู้ป่วย

นพ.พัชร เปิดเผยว่า การเปลี่ยนถ่ายหัวใจ คือ การเอาหัวใจจากคนไข้คนหนึ่ง ที่สมองตายแล้ว แต่หัวใจยังทำงาน มาให้ กับคนไข้อีกคน ซึ่งมีข้อจำกัดว่า เมื่อเราหยุดหัวใจในคนที่บริจาคมาใส่ในผู้รับบริจาค จะต้องทำให้เสร็จสิ้น คือ ปล่อยเลือดให้กลับมาเลี้ยงในหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่อีกครั้ง ต้องทำภายใน 4 ชั่วโมง โดยผู้ที่บริจาคจำนวนมากในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยมีระยะทางที่ไกล ซึ่งไม่สามารถเดินทางด้วยวิธีอื่นได้นอกจากเครื่องบิน

"ข้อกำหนด 4 ชั่วโมง จึงเป็นตัวกำหนด ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้บริจาคอวัยวะอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งการไปด้วยรถยนต์ 4 ชั่วโมงก็คงไม่ถึง เครื่องบินจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการขนส่ง" นพ.พัชร อธิบาย


สำหรับ "หัวใจ" สมัยหนึ่งเคยใช้เครื่องบินพาณิชย์ แต่ในช่วงโควิด-19 ไม่มีเที่ยวบิน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องบินพิเศษ 

ที่ผ่านมา สำหรับเที่ยวบินพิเศษในการบิน รับ-ส่งอวัยวะ เช่น หน่วยงานจากราชการ ของกองบินตำรวจที่สนับสนุนการบินมาโดยตลอด นอกเหนือจากสายการบินพาณิชย์อื่นๆ เช่น ไทยสมายล์ นกแอร์ 

สำหรับหน่วยงานราชการ ต้องดูทรัพยากรพร้อมหรือไม่ เครื่องมีไหม และที่สำคัญ คือ งบประมาณ 


ส่วน ขั้นตอนการรับหัวใจ ในต่างประเทศ จะมีทีมแพทย์ที่สามารถเอาอวัยวะออกอยู่แล้ว กระจายอยู่ภายในประเทศตามพื้นที่ต่างๆ โดยใช้ลักษณะให้ทีมแพทย์โรงพยาบาลใกล้ๆ เข้ามาผ่าตัดนำอวัยวะออก แล้วส่งขึ้นเครื่องบินมา ถือเป็นที่นิยมที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศไทย การผ่าตัดหัวใจ หรือตับ มีความซับซ้อนมาก เกินกว่าที่จะให้ทีมแพทย์อื่นๆทำให้ ส่วนใหญ่ ทีมจากส่วนกลางจะต้องออกไปเอง อย่างทีมหัวใจ ประกอบไปด้วย ศัลยแพทย์ 2 คน และ พยาบาล 2 คน


การเก็บรักษาหัวใจ หลังจากถูกนำออกมาจากร่างกาย จะต้องมีการใส่น้ำยาเข้าไปทางหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจก่อน เพื่อให้น้ำยาปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องจากหัวใจจะหยุด เหมือนสภาวะจำศีล ไม่มีการใช้พลังงานมาก จากนั้น ก็จะใส่มาในน้ำเย็นจัดในถังน้ำแข็ง เพื่อรักษาอุณหภูมิให้ต่ำ ให้หัวใจไม่ช้ำ และให้เซลล์ไม่ช้ำ 

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาฯไม่มีการหยุดผ่าตัดหัวใจให้กับคนไข้ เนื่องจากคนไข้ที่รอผ่าตัดหัวใจ มีสิทธิ์ที่อาการจะแย่ลง และเสียชีวิตได้ทุกวัน เพราะฉะนั้น จากการประเมินความเสี่ยงและทรัพยากร จึงมีความเห็นพ้องกันว่า เราสามารถผ่าตัดคนไข้ได้ ในสถานการณ์โควิด-19

แต่หากสถานการณ์โควิด-19 วิกฤติ เหมือนในหลายประเทศก็คงจะต้องหยุด แต่ที่ผ่านมาประเมินแล้ว ว่าสามารถทำได้ในการผ่าตัดหัวใจต่อไป ซึ่งรูปแบบการทำงานด้วยการใช้วิธีจัดเวรสลับกันผ่าตัด ทำให้สามารถช่วยชีวิตคนไข้โรคหัวใจไว้ได้


"ที่ผ่านมามีการพิจารณาตามสถานการณ์ โดยมีการกำหนดแผนซึ่งดูจากความรุนแรงของโควิด-19 ในแต่ละระดับ เพื่อให้สอดรับกับแผนที่วางไว้ โดยที่ผ่านมา การผ่าตัดของรพ.จุฬา ลดลงมาครึ่งนึง เหลือ ร้อยละ 50 หากสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวยผู้ป่วยเพิ่มขึ้น มีเคสผู้ป่วยในรพ.เพิ่มขึ้น ก็อาจต้องปรับลดการผ่าตัดลงไปอีก"

ส่วนการบริหารจัดการความเสี่ยงในห้องผ่าตัด ในคนไข้ที่ไม่ใช่โควิด-19 เบื้องต้น คือ คนไข้ที่จะเข้าผ่าตัด จะต้องมีการคัดกรองตามกระบวนการ การตรวจหาเชื้อก่อน โดยในห้องผ่าตัด บุคลกรที่เสี่ยงที่สุดในการติดเชื้อโควิด-19 คือ วิสัญญีแพทย์ หรือ หมอดมยา เนื่องจากเชื้อโควิด-19 แพร่ะกระจายผ่านละอองฝอยน้ำลาย ทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ ที่มีความเสี่ยงสูงสุด เพราะฉะนั้น วิสัญญีแพทย์ จะต้องป้องกันอย่างเต็มที่ และต้องประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น การมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือทีมแพทย์ ในการขนส่งอวัยวะ เป็นสิ่งที่ดี 


"สิ่งที่น่าเศร้า ที่สุดก็คือ ในการที่คนไข้หัวใจวายระยะสุดท้าย และรอการปลูกถ่ายหัวใจ สิ่งที่หน้าเศร้าที่สุดคือ คนไข้เสียชีวิตไปโดยไม่มีอวัยวะมาเปลี่ยนให้ แต่ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ มีอวัยวะที่จะเปลี่ยนให้ แต่ไม่มีความสามารถที่จะไปรับมา อันนี้คือ สิ่งที่เศร้าที่สุดในการดูแลคนไข้ ถ้ามีอวัยวะขึ้นที่ไหน ในประเทศไทย เนื่องจากอวัยวะเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ เงินเท่าไหร่ก็หาไม่ได้ เมื่อมีแล้ว นั่นคือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด

เราจึงต้องทุ่มเท สรรพกำลังทุกสิ่งในการนำมาให้ได้ และการที่มีหน่วยงาน ต่างๆ ในการช่วยเหลือ ทั้งรัฐและเอกชน อย่างภารกิจเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอด สามารถนำอวัยวะที่มีค่าที่สุด ซึ่งจริงๆแล้ว เป็นทรัพยากรของชาติเอามาช่วยคนไข้ที่มีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างแน่ในระยะเวลาอันสั้น หากไม่มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ สิ่งนี้เองจึงเป็นแรงผลักดันของพวกเราคนทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย" นพ.พัชร กล่าว


นพ.พัชร กล่าวต่อว่า วงการปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งแพทย์ และ ทีมขนส่ง ส่วนใหญ่มาจากจิตอาสาทั้งสิ้น เช่น แพทย์ ที่ทุ่มเท อาสาทางด้านนี้ คนที่มาช่วยเหลือด้านขนส่ง หน่วยงานราชการ เอกชน ก็อาสาทั้งนั้น ไม่มีหน่วยงานเฉพาะ ซึ่งอาสามันดีพอสำหรับจำนวนหนึ่ง แต่ตอนนี้ในประเทศไทย ผู้บริจาคเป็นที่รู้ว่าเป็นมาตรฐาน คนบริจาคเพิ่มขึ้น แต่ก็ไปติดคอขวดว่าจำนวนอาสารับไม่ไหวแล้ว

ทำให้ตอนนี้เริ่มมีปัญหาในบางอวัยวะแล้ว ไม่มีทีมออกไปรับ ซึ่งเป็นหัวข้อหลัก ตั้งแต่ โควิด-19 จะมา ทางกระทรวงสาธารณสุข และทางแพทย์ จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ หรือ หน่วยงานกลางออกไปรับอวัยวะ ของประเทศ ซึ่งเบื้องต้นได้มีการคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่จะต้องทำให้ความตั้งใจของผู้บริจาคอวัยวะบรรลุผล ไม่สูญเปล่า


"การออกไปรับอวัยวะมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน ต้องประสานงานวันเวลาต่างๆ ของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งได้มีการพูดคุยกับท่านธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก่อนที่โควิด-19 จะมา โดยท่านธนินท์ ได้บอกว่า ถ้าทางทีมแพทย์มีความต้องการในกานขนส่งอวัยวะเร่งด่วนด้วยเครื่องบิน ท่านยินดีให้การสนับสนุน จากนั้นได้จึงประสานกับทางบริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด โดยทางบริษัทำไม่คิดค่าใช้จ่ายในการขนส่งอวัยวะให้กับทีมแพทย์ "

ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ล่าสุด เดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 37,930 ราย มีผู้บริจาคไปแล้ว 94 ราย ปลูกถ่ายอวัยวะไปแล้ว 206 ราย โดยรอรับ อวัยวะ อยู่ที่ 5,971 ราย โดยอวัยวะและเนื้อเยื้อ ที่ได้รับการปลูกถ่ายสูงสุด ตั้งแต่ ปี2537-2562 อันดับ 1 คือ ไต อันดับ 2 ดวงตา อันดับ 3 ลิ้นหัวใจ อันดับ 4 ผิวหนัง อันดับ 5 ตับ และอันดับ 6 หัวใจ


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ข่าวที่เกี่ยวข้อง