กระแสแห่ตุนมะพร้าว สะท้อนชาวอินโดฯ สิ้นหวัง รัฐขยายล็อกดาวน์
กระแสแห่ตุนมะพร้าว - วันที่ 20 ก.ค. แชนเนล นิวส์เอเชีย รายงานว่า เกิดกระแสชาวอินโดนีเซียแห่กินอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ รวมถึงมะพร้าว ด้วยความเชื่อจะช่วยต้านโรคได้ แม้ทางการกระทรวงสาธารณสุขเตือนว่า เป็นข้อมูลที่บิดเบือนแ ส่วนนักวิชาการด้านสาธารณสุข มองว่า กระแสเหล่านี้ สะท้อนว่าประชาชนสิ้นหวัง
ดร.สิตี นาเดีย ทาร์มีซี ผอ.ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซียกล่าวว่าประชาชนได้รับข้อมูลผิดๆ มากมาย เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มว่า ป้องกันโควิด-19 ทั้งที่ไม่มีผลการทดลองเชิงคลินิกว่า มีประสิทธิภาพเช่นนั้น แต่ดูเหมือนว่าประชาชนจะไม่สนใจฟังคำเตือนดังกล่าว
ชาวอินโดนีเซียรายหนึ่งกล่าวว่า นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ตนเองหาซื้อมะพร้าวทั้งในตลาดค้าปลีกและตลาดค้าส่งแทบไม่ได้ เพราะคนต้องการมาก บางคนซื้อไปตุน ครั้งละ 4-5 ลูก ส่วนตนเองซื้อได้แค่ลูกเท่ากำปั้น เพราะชาวสวนมะพร้าวเก็บผลที่ยังไม่โตเต็มที่มาขาย
"เมื่อก่อนขายมะพร้าวโตเต็มที่ลูกละราว 24 บาทแต่ขณะนี้ลูกละราว 70 บาท สูงกว่าราคาเดิมเกือบ 3 เท่า" ชาวบ้านกล่าว
นอกจากมะพร้าวแล้วยังมีนมวัวพร้อมดื่ม ที่ประชาชนเชื่อว่ากระตุ้นสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ได้ ปัจจุบันราคานมขายปลีกขึ้นสูงราว 27 บาทต่อกระป๋อง จากเดิมราว 20 บาทต่อประป๋อง
แม่บ้านรายหนึ่งกล่าวว่า “นมยี่ห้อนี้หาซื้อยากขึ้นทุกวัน ดังนั้นฉันจึงซื้อเก็บไว้จำนวนหนึ่งทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันได้ยินมานานแล้วว่านมนี้ดีต่อสุขภาพ แต่ฉันไม่เชื่อจริงๆ หรอกว่าการดื่มนมยี่ห้อนี้จะป้องกันโควิด-19 ได้ แต่ไม่เสียหายอะไรที่จะระมัดระวังไว้ก่อน"
ดร.เฮอร์มาวัน สปุตรา จากสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอินโดนีเชียวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวว่า ประชาชนกำลังอยู่ในภาวะสิ้นหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะคุ้มครองตนเอง โรคระบาดเริ่มอาละวาดมา 1 ปีครึ่ง
ประชาชนเห็นว่า ไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว และไม่มีสัญญาณว่าโรคระบาดจะจบในไม่ช้า จุดนี้จึงมีประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องการปกป้องตนเองและครอบครัว พร้อมเชื่ออะไรก็ได้
อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อ 2.8 ล้านคน นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด ในจำนวนนี้ราว 350,000 คนติดเชื้อภายในสัปดาห์เดียวที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 800-1,200 รายทุกวัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตกว่า 70,000 ราย ทำให้นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดี ประกาศขยายมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด ต่อไปถึงวันที่ 25 ก.ค.
"ถ้ามีแนวโน้มว่าอัตราการติดเชื้อยังค่อนๆ ลดลงต่อเนื่อง วันที่ 26 ก.ค. รัฐบาลจึงจะค่อยๆ คลายล็อก" นายวิโดโดกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ค. ประชาชนยังคงเดินทางไปสวดด้านนอกมัสยิดและฆ่าแพะบูชายัญเนื่องในเทศกาลอีฎิ้ล อัลอัดฮา แม้ว่าทางการประกาศห้ามการรวมกลุ่ม รวมถึงตั้งด่านตามถนนสายสำคัญ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อของอินโดนีเซียพุ่งกระฉูดจนเป็นศูนย์กลางการระบาดของเอเชีย