รีเซต

โควิด-19 : ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องฉีดซิโนแวคโดสที่ 3 หลังหมอ-พยาบาลอินโดฯ เสียชีวิตแม้ได้รับวัคซีนแล้ว

โควิด-19 : ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องฉีดซิโนแวคโดสที่ 3 หลังหมอ-พยาบาลอินโดฯ เสียชีวิตแม้ได้รับวัคซีนแล้ว
ข่าวสด
6 กรกฎาคม 2564 ( 03:19 )
35
โควิด-19 : ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องฉีดซิโนแวคโดสที่ 3 หลังหมอ-พยาบาลอินโดฯ เสียชีวิตแม้ได้รับวัคซีนแล้ว

 

สมาคมการแพทย์แห่งอินโดนีเซียเผยมีแพทย์อย่างน้อย 20 ราย และพยาบาลอย่างน้อย 10 ราย ที่เสียชีวิตระหว่างเดือน ก.พ.- มิ.ย. แม้ว่าจะได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว

 

 

ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ได้วัคซีนซิโนแวคเป็นโดสที่ 3 ในขณะที่ประเทศกำลังรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วย และสุสานเต็มไปด้วยผู้เสียชีวิต

 

 

 

ถึงวันนี้ อินโดนีเซียฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปไม่ถึง 8% จากจำนวนประชากรทั้งหมด 250 ล้านคน โดยแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 20,000 ราย อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าตัวเลขจริง ๆ น่าจะสูงกว่านั้นเพราะขาดระบบการตรวจหาเชื้อที่มีประสิทธิภาพนอกกรุงจาการ์ตา

 

 

ในเวลาเดียวกันคนที่ได้รับวัคซีนแล้วเริ่มกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตโดยจีน

 

 

"มันไม่มีผลเลย"

A

จากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ 949 ราย ที่เสียชีวิตระหว่างเดือน ก.พ.- มิ.ย. มีแพทย์อย่างน้อย 20 ราย และพยาบาลอย่างน้อย 10 ราย ที่เสียชีวิตแม้ว่าจะได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว

 

 

แพทย์ไม่ค่อยอยากจะให้สัมภาษณ์โดยเปิดเผยตัวตนนัก และบีบีซีพบว่าพวกเขาอยู่ในสภาพที่เปราะบางมาก

 

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดคนหนึ่งบอกว่าเธอได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน เธอไปตรวจระดับแอนติบอดีเพื่อดูว่าสามารถสู้กับเชื้อโรคโควิด-19 ได้ไหม

 

 

"มันไม่มีผลเลย วัคซีนไม่ได้สร้างแอนติบอดีในตัวฉัน" เธอบอกกับบีบีซีแผนกภาษาอินโดนีเซีย "หนึ่งเดือนผ่านไป ฉันไปตรวจอีกครั้งแต่ผลก็ออกมาเหมือนเดิม"

 

 

เธอบอกว่า ผลตรวจแอนติบอดีของเพื่อนร่วมงานบางคนออกมาดีกว่า แต่สำหรับเธอแล้ว ซิโนแวคมีผลต่อเธอน้อยมาก

 

 

องค์การอนามัยโลก อนุมติให้ใช้วัคซีนยี่ห้อซิโนแวคเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยระบุว่าสามารถป้องกันการเกิดอาการของโรคได้ 51%

E

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกบอกว่า จากการศึกษากลุ่มประชากรกลุ่มหนึ่ง วัคซีนสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการทรุดหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 100%

 

 

บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ผู้ผลิตวัคซีนนี้ย้ำว่า วัคซีนแค่ 2 โดสเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนัก พวกเขายังบอกว่ากำลังทดลองให้โดสที่ 3 แล้ว และผลการทดลองเบื้องต้นออกมาน่าพอใจ

 

 

"หลังจากให้ครบ 2 โดสแล้ว ร่างกายเราก็มีความจำเรื่องภูมิต้านทานแล้ว ส่วนจะต้องการโดสที่ 3 หรือไม่นั้น ขอให้เวลานักวิจัยศึกษาเรื่องนี้หน่อย" นายหยิน เว่ยตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิโนแวค ไบโอเทคให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีเมื่อไม่นานมานี้

 

 

นายหยินบอกว่า อาสาสมัครที่ได้รับซิโนแวคมาแล้ว 2 โดสได้รับวัคซีนโดสที่ 3 หลังจากผ่านไป 3 และ 6 เดือน และแอนติบอดีในร่างกายพวกเขาอาจพุ่งสูงเป็น 10 เท่าในหนึ่งสัปดาห์ และ 20 เท่าใน 15 วัน

 

 

ฝ่ายบรรเทาความเสี่ยงของสมาคมการแพทย์แห่งอินโดนีเซียเชื่อว่า โดยรวมแล้ว วัคซีนยี่ห้อนี้ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและทางการอินโดนีเซีย จะช่วยลดความเสี่ยงป่วยหนักจากโควิดได้

 

 

แต่สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงในเวลานี้คือว่าบุคลากรการแพทย์ควรได้รับวัคซีนโดสที่ 3 หรือไม่

 

 

 

โดสที่สาม

ดร.ดิคกี บูดิแมน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนเรื่องนี้

 

 

"ตอนนี้เรากำลังเจอการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นเพราะสายพันธุ์ใหม่ ๆ มันเป็นเรื่องเร่งด่วนมากที่พวกเขาต้องได้รับวัคซีนเพิ่ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเพื่อกระตุ้นประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค กับเพิ่มแอนติบอดีในร่างกายให้รับมือกับกับโควิดที่กลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เดลตา"

 

 

EP

ดร.ตรี ยูนิส มิโก นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย บอกว่า เมื่อเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ลดน้อยลงตามไปด้วย และว่าผ่านไป 6 เดือนแล้ว นับตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนเมื่อเดือน ม.ค.

 

 

อย่างไรก็ดี ดร.วินดู เปอร์โนโม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแอร์ลังกา ตั้งคำถามว่าควรจะให้วัคซีนโดสที่ 3 ไหม

 

 

"เราได้เห็นกรณีบุคลากรการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วแต่เสียชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น" ดร.เปอร์โนโม กล่าว "หากวัคซีนซิโนแวคไม่สามารถป้องกันคนจากโควิดที่กลายพันธุ์ได้ การให้โดสที่ 3 ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร"

 

 

ซิตี นาเดีย ทาร์มีซี โฆษกโครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอินโดนีเซียบอกว่า กำลังรอข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ เพราะยังไม่มีคำแนะนำเพิ่มเติมเรื่องการให้วัคซีนโดสที่ 3 จากองค์การอนามัยโลก

 

 

"เรามีทีมวิจัยของตัวเองที่กำลังทำการทดลองในระยะที่ 3 เพื่อดูประสิทธิภาพของการให้วัคซิโนแวคเป็นเข็มที่ 3 ซึ่งจะให้ข้อมูลเราได้ว่าควรจะให้โดสที่ 3 เพิ่มหรือไม่"

 

 

 

ใกล้หายนะ

ขณะนี้อินโดนีเซียมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 25,000 คน ต่อวัน โดยเป็นประเทศที่มีการระบาดของโรคหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ติดเชื้อแล้ว 2.3 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วมากกว่า 60,000 คน อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านั้น เพราะการตรวจหาเชื้อนอกกรุงจาตาร์ตาเป็นไปอย่างจำกัด

 

 

เมื่อเดือนที่แล้ว สภากาชาดอินโดนีเซียบอกว่าสถานการณ์ใกล้ "หายนะ" โดยโรงพยาบาลไม่สามารถรับคนไข้ได้แล้ว

 

 

สำหรับสถานการณ์ในกรุงจาการ์ตาเอง รัฐบาลบอกว่ายอดการจัดงานศพรายวันเพิ่มขึ้นมา 10 เท่า นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.

 

 

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อินโดนีเซียได้ประกาศล็อกดาวน์บนเกาะชวา และเกาะบาหลี เพื่อควบคุมสถานการณ์

 

 

 

ขาดออกซิเจนเข้าขั้นวิกฤต

ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้สั่งให้ผู้ผลิตออกซิเจนให้ความสำคัญกับการใช้ออกซิเจนในทางการแพทย์ก่อน ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การขาดแคลนออกซิเจนในหลายเมือง

 

 

โรงพยาบาลหลายแห่งระบุว่าไม่สามารถรับคนไข้เพิ่มได้อีกแล้ว และมีแห่งหนึ่งที่มีผู้ป่วยเสียชีวิต 63 คน ในวันเดียว เพราะขาดออกซิเจน

 

 

Re

เด็ก

ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา อินโดนีเซียมีเด็กที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้นถึงสามเท่า โดยมีเด็กทารกที่เสียชีวิตสูงขึ้นมาก

 

 

เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศว่าจะให้วัคซีนเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี

 

 

แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีวัคซีนอื่น ๆ ด้วย เช่น แอสตร้าเซนเนเก้าและซิโนฟาร์ม แต่วัคซีนส่วนใหญ่ได้มาจากประเทศพันธมิตรสำคัญอย่างจีน

 

 

ความเป็นจริงคือตอนนี้รัฐบาลอินโดนีเซียมีทางเลือกไม่มากไปกว่าการต้องใช้วัคซีนซิโนแวคต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง