โควิด-19: ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้น ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโอมิครอนได้อีก 37-83 เท่า
บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ผู้ผลิตวัคซีนชนิด mRNA ป้องกันโรคโควิด-19 แถลงถึงผลการทดลองล่าสุดว่า การฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นหรือเข็มที่ 3 สามารถจะเพิ่มสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่ลบล้างฤทธิ์ไวรัสกลายพันธุ์ "โอมิครอน" (Omicron) ให้สูงขึ้นได้อีกหลายสิบเท่า
ผลการทดสอบกลุ่มเล็กกับผู้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 20 คน พบว่าเมื่อผ่านไปแล้ว 29 วัน ปริมาณแอนติบอดีในกระแสเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยผู้ที่รับวัคซีนครึ่งโดสหรือ 50 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่ฉีดให้กับประชาชนทั่วไปในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร มีระดับของแอนติบอดีในร่างกายเพิ่มขึ้นจากเดิม 37 เท่า
ส่วนผู้ที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหนึ่งโดสหรือ 100 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่ฉีดให้กับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือบกพร่องเป็นกรณีพิเศษ มีระดับของแอนติบอดีเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 83 เท่า
แม้การทดสอบครั้งนี้จะทำกับกลุ่มทดลองขนาดเล็ก ทั้งยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ หรือลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ แต่ทางบริษัทโมเดอร์นาแสดงความมั่นใจว่า ระดับของแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 37 เท่า จากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น เพียงพอจะช่วยป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ในระดับที่ดี ระหว่างที่ทั่วโลกกำลังเตรียมเข้าสู่เทศกาลวันหยุดยาว และตลอดช่วงฤดูหนาวนี้
ดร. พอล เบอร์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของโมเดอร์นาชี้แจงว่า แม้จะยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนของทางบริษัทจะป้องกันการเสียชีวิต หรือป้องกันอาการป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากเชื้อโอมิครอนได้แค่ไหน แต่ข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพในการกระตุ้นระดับแอนติบอดีที่มีอยู่ขณะนี้ นับว่าสามารถสร้างความอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง โดยทำให้เชื่อได้ว่าวัคซีนสูตรปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพสูงอย่างที่เคยเป็นมา
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัทโมเดอร์นาจะยังคงเร่งพัฒนาวัคซีนโควิดที่ใช้ต้านทานเชื้อโอมิครอนโดยเฉพาะต่อไป โดยจะมีการทดลองระดับคลินิกกับมนุษย์ภายในต้นปีหน้า และอาจพร้อมผลิตออกมาใช้ได้จริงภายในเดือนมีนาคม ปี 2022
เราจะตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้อย่างไร
ปัจจุบันมีการทดสอบเพียงวิธีเดียวที่จะตรวจหาเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนได้ นั่นก็คือการตรวจแบบพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction - PCR) ตามด้วยการวิเคราะห์พันธุกรรมไวรัสอย่างเต็มรูปแบบเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง
ปัญหาก็คือในหลายประเทศแม้แต่สหราชอาณาจักร มีห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์ครบครันและมีบุคลากรพร้อมจะตรวจหาเชื้อโอมิครอนในแบบดังกล่าวอยู่น้อยมาก ทำให้การตรวจหาเชื้อเพื่อหยั่งทราบถึงสถานการณ์การระบาดเป็นไปอย่างล่าช้า ในขณะที่ไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้กำลังแพร่ระบาดลุกลาม จนถึงขั้นพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าได้ภายในเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น
เราไม่สามารถตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้ หากใช้ชุดตรวจหาเชื้อแบบเร็วด้วยตนเอง เช่นชุดตรวจ ATK ซึ่งตรวจจับสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจนจากไวรัสโควิดได้ไม่แม่นยำนัก บางแห่งเรียกชุดตรวจแบบนี้ว่า LFT เพราะใช้เทคนิคแยกแอนติเจนออกมาผ่านการไหลในแนวราบ (lateral flow)
ดังนั้นการตรวจหาเชื้อโอมิครอน จึงต้องเริ่มด้วยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อและสารคัดหลั่งจากต่อมทอนซิลในลำคอ หรือจากส่วนลึกของโพรงจมูก มาผ่านการตรวจแบบ PCR เพื่อมองหายีนหรือหน่วยพันธุกรรม 3 ตัว ที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบต่าง ๆ ของไวรัส ซึ่งได้แก่ยีนของหนาม (S) ยีนของส่วนด้านในที่เรียกว่า "นิวคลีโอแคปซิด" (N2) และยีนบนเปลือกผิวด้านนอกของไวรัส (E)
หากตรวจไม่พบยีนของหนามไวรัส (S) ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าไวรัสนั้นคือสายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากการตรวจไม่พบยีนตัวนี้ (S-gene dropout) เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของมันนั่นเอง
แต่ก็ใช่ว่าการที่ไม่พบยีน S จะสามารถฟันธงลงไปได้ว่าเป็นเชื้อโอมิครอนเสมอไป จึงต้องมีการวิเคราะห์พันธุกรรมไวรัสอย่างเต็มรูปแบบเพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 4-5 วันเลยทีเดียว
................