รีเซต

ทำความรู้จักวัคซีน mRNA เทคโนโลยีการป้องกันโรคต่าง ๆ ในอนาคต

ทำความรู้จักวัคซีน mRNA เทคโนโลยีการป้องกันโรคต่าง ๆ ในอนาคต
TNN ช่อง16
8 ตุลาคม 2566 ( 12:25 )
82
ทำความรู้จักวัคซีน mRNA เทคโนโลยีการป้องกันโรคต่าง ๆ ในอนาคต

วัคซีน mRNA วัคซีนชนิดหนึ่งที่ใช้สารพันธุกรรมที่เรียกว่า mRNA (messenger Ribonucleic Acid) เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค วัคซีน mRNA ทำงานโดยส่ง mRNA เข้าไปในเซลล์ของร่างกาย ซึ่ง mRNA นี้จะทำหน้าที่เป็นรหัสคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนที่เป็นเป้าหมายของโรคขึ้น โปรตีนนี้จะถูกนำเสนอต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนนั้น ๆ และป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อโรคนั้น ๆ


วิธีการทำงานของวัคซีน mRNA


วัคซีน mRNA ทำงานโดยส่ง mRNA เข้าไปในเซลล์ของร่างกาย ซึ่ง mRNA จะทำหน้าที่เป็นรหัสคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนที่เป็นเป้าหมายของโรคขึ้น โปรตีนนี้จะถูกนำส่งไปยังระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนนั้น ๆ และป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ในที่สุด ในช่วงการระบาดของ COVID-19 วัคซีน mRNA ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรค และพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจาก COVID-19 สูงถึง 95%


2 ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีน mRNA คว้ารางวัลโนเบลปี 2023


ก่อนหน้านี้ในวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Koriko) ชาวฮังการี รองประธานอาวุโส บริษัทไบโอเอ็นเทค อาร์เอ็นเอ ฟาร์มาซูติคอล และศาสตราจารย์ นพ. ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman) ชาวอเมริกันจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ ผู้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) คว้ารางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2023 


คณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวว่า ผลงานของศาสตราจารย์ทั้งสองคนได้ "เปลี่ยนความเข้าใจขั้นพื้นฐานเรื่องปฏิกิริยาของ mRNA ต่อระบบภูมิคุ้มกันของเรา" และ "มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาวัคซีนในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงที่โลกเผชิญกับหนึ่งในภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคสมัยใหม่"


ข้อกังวลเกี่ยวกับวัคซีน mRNA


แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แต่ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA อยู่โดยพบกว่าผู้ที่ใช้วัคซีนมีอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย ผลข้างเคียงเหล่านี้มักหายไปเองภายในไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม มีรายงานการพบผลข้างเคียงที่รุนแรงในบางกรณี เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ 


นอกจากนี้กระบวนการในการเก็บรักษาวัคซีน mRNA ซึ่งมีลักษณะเป็นสารพันธุกรรมที่ไวต่อความร้อนและความชื้นต้องใช้อุณหภูมิที่ต่ำทำให้การขนส่งหรือดูแลรักษาวัคซีนทำได้ยากและอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีน รวมไปถึงข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ แม้จะยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของวัคซีน mRNA ต่อภาวะเจริญพันธุ์ โดยจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลกระทบของวัคซีน mRNA ต่อภาวะเจริญพันธุ์อีกระยะหนึ่ง


กลุ่มต่อต้านวัคซีน mRNA


กระแสความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน mRNA ทำให้มีกลุ่มคนบางกลุ่มต่อต้านวัคซีน mRNA โดยกลุ่มดังกล่าวเริ่มก่อตัวในช่วงของการระบาดของ COVID-19 ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศได้ออกมาตรฐานการสนับสนุนให้ประชาชนฉีดวัคซีน รวมไปถึงการบังคับให้คนในองค์กรต่าง ๆ ฉีดวัคซีน mRNA 


แนวคิดหลัก ๆ ของกลุ่มต่อต้านวัคซีน mRNA อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าวัคซีนไม่ปลอดภัยและไม่มีการทดสอบอย่างเพียงพอ รวมไปถึงความรีบเร่งในการนำวัคซีนมาใช้งานกับประชาชน นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีสมคบคิด หรือเป็นเรื่องที่ถูกกุขึ้นมาว่าการฉีดวัคซีนเป็นแผนการควบคุมจำนวนประชากรของรัฐบาล


การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านวัคซีน mRNA เกิดขึ้นในหลายประเทศแต่โดยหลัก ๆ จะอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงปี 2022 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งรัฐมินนิโซตา นาธาน เวเซนเบิร์ก อาร์-ลิตเติลฟอลส์ ได้เสนอให้จับกุมผู้ว่าการรัฐ เนื่องจากการออกมาตรการสนับสนุนการฉีดวัคซีนกับประชาชน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนดังกล่าวเรียกวัคซีน mRNA ว่ากระสุนสังหาร


การใช้งานวัคซีน mRNA เพิ่มมากขึ้น


ปัจจุบันการใช้วัคซีน mRNA มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน mRNA เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากการสนับสนุนจากทางรัฐบาล กำลังการผลิตและเทคโนโลยีการขนส่งที่ทำได้รวดเร็วมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีผู้ได้รับการฉีดวัคซีน mRNA แล้วมากกว่า 10.3 ล้านโดส นับจากการเริ่มฉีดให้ประชาชนจนถึงปัจจุบัน


ที่มาของข้อมูล cidrap.umn.edu, floridahealth.gov, minnesotareformer.com, edition.cnn.com



ข่าวที่เกี่ยวข้อง