รีเซต

โควิด-19 : นมตราหมี ยาฆ่าพยาธิ และน้ำมันหอมระเหย กับข่าวปลอมการรักษาไวรัสในอินโดนีเซีย

โควิด-19 : นมตราหมี ยาฆ่าพยาธิ และน้ำมันหอมระเหย กับข่าวปลอมการรักษาไวรัสในอินโดนีเซีย
ข่าวสด
21 กรกฎาคม 2564 ( 21:38 )
77
โควิด-19 : นมตราหมี ยาฆ่าพยาธิ และน้ำมันหอมระเหย กับข่าวปลอมการรักษาไวรัสในอินโดนีเซีย

 

ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตากำลังพุ่งสูงในอินโดนีเซีย ข้อมูลเท็จเกี่ยวการรักษาและป้องกันการติดเชื้อแพร่สะพัดในโลกออนไลน์เพิ่มสูงเป็นเงาตามตัว

 

 

โรงพยาบาลต่าง ๆ กำลังประสบปัญหาคนไข้ล้น และการขาดแคลนออกซิเจน ขณะที่ประชาชนต่างพยายามหาหนทางช่วยเหลือญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่ล้มป่วยด้วยโควิด

 

 

ทีมงานตรวจสอบความจริง "เรียลิตี เช็ก" ของบีบีซี จะพาไปดูข้อมูลเท็จต่าง ๆ ที่ถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียขณะนี้

 

 

 

1. อนุมัติให้ใช้ยาฆ่าพยาธิรักษาโควิด

ปัจจุบันมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอินโดนีเซียแชร์ข้อมูลเรื่องการใช้ยาฆ่าพยาธิ "ไอเวอร์เม็กติน" (Ivermectin) ในการรักษาผู้ป่วยโควิดกันมากขึ้น

 

 

ความสนใจเรื่องนี้เกิดขึ้น หลังจากสื่อในท้องถิ่นรายงานข้อมูลที่ผิดพลาดว่า ทางการอินโดนีเซียได้อนุมัติการใช้ไอเวอร์เม็กตินเพื่อรักษาโควิดเป็นการฉุกเฉิน

 

 

แต่บีบีซีตรวจพบว่า การใช้ยาดังกล่าวยังอยู่ในขั้นการทดลอง และยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโควิดได้

 

ข่าวปลอมนี้อ้างอิงจากแถลงการณ์เมื่อ 15 ก.ค.ที่ออกโดยสำนักงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย (BPOM)

 

 

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นาน พญ.เพนนี ลูกิโต หัวหน้า BPOM ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่ายังไม่มีการอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้ไอเวอร์เม็กตินในการรักษาโควิด

 

 

ความสับสนดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการใส่ชื่อยาไอเวอร์เม็กติน รวมอยู่ในรายชื่อยาอื่นอีก 2 ชนิด ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน

 

 

อย่างไรก็ตาม พญ.ลูกิโต อธิบายว่า ยาไอเวอร์เม็กตินรวมอยู่ในรายชื่อดังกล่าวเนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิกที่โรงพยาบาล 8 แห่ง แต่คาดว่าจะยังไม่ทราบผลจนกว่าจะถึงเดือน ต.ค. และขณะนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติให้ใช้รักษาโควิด

 

 

ที่ผ่านมา มีคนดังหลายคนได้เผยแพร่ข่าวการใช้ไอเวอร์เม็กตินเป็นวิธีการรักษาโควิด แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะเตือนว่า การทำเช่นนี้ควรทำในสถานพยาบาลเท่านั้น

 

 

นายเรซา กุนาวัน ซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยทั้งที่ไม่ใช่แพทย์ ได้โพสต์สนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ของเขาที่มีผู้ติดตามกว่า 350,000 ราย

 

 

เมื่อทีมข่าวบีบีซีถามว่าเหตุใดเขาจึงทำเช่นนี้ นายกุนาวัน ตอบว่า ไอเวอร์เม็กตินค่อนข้างปลอดภัย มีราคาต่ำ มีประสิทธิภาพในการรักษา รวมทั้งใช้งานง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการให้วัคซีนต้านโควิดในปัจจุบัน"

 

 

ด้านบริษัทเมอร์ค (Merck) ผู้ผลิตไอเวอร์เม็กติน ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่ายาชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาโควิดได้

 

 

ดร.ดิคกี บูดิแมน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ในออสเตรเลีย ระบุว่า ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้โดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

 

 

ยานี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงหลังมีการส่งเสริมให้ใช้รักษาโควิดในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกาใต้ ทั้งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าใช้ได้ ปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศ หนึ่งในนั้นคือสหราชอาณาจักร ที่ทำการศึกษาทดลองใช้เพื่อรักษาโควิด

 

 

ปกติแล้ว ไอเวอร์เม็กติน ถูกใช้เพื่อรักษาโรคพยาธิต่าง ๆ อาทิ โรคตาบอดแถบแม่น้ำ (river blindness) แต่ก็พบว่ามันสามารถฆ่าเชื้อไวรัสต่าง ๆ ในจานเพาะเชื้อได้ แต่ต้องให้ในโดสที่สูงกว่าปกติ

 

 

 

2. นมตราหมีช่วยสร้างแอนติบอดี

ภาพวิดีโอหลายชิ้นที่เผยให้เห็นคนอินโดนีเซียแห่กันไปซื้อนมสดตราหมีกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก

 

 

กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากมีคำกล่าวอ้างทางโซเชียลมีเดียและกลุ่มสนทนาทางวอตส์แอปป์ (WhatsApp) ว่าการดื่มนมสดยี่ห้อนี้อาจช่วยสร้างแอนติบอดี หรือสารภูมิต้านทานโควิดได้

 

 

ข่าวเท็จนี้ได้ดันให้ราคานมยี่ห้อนี้พุ่งสูงขึ้น 455%

 

 

ยังไม่ชัดเจนว่าข่าวลือเรื่องนี้มีต้นตอมาจากที่ใด และก็ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าการดื่มนมสดสามารถสร้างสารภูมิต้านทานโควิดได้

 

 

บริษัทเนทส์เล่ ในอินโดนีเซีย บอกกับบีบีซีว่า บริษัทไม่เคยอวดอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนช่วยสร้างสารภูมิต้านทานโควิดได้ ซึ่งแอนติบอดีนี้จะเกิดขึ้นได้จากการรับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อมาแล้วเท่านั้น

 

 

 

3. ยาสมุนไพร "กระตุ้น" ภูมิคุ้มกัน

ปัจจุบันกำลังมีโพสต์ทางโซเชียลมีเดียถูกส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า "โพรพอลิส" (propolis) หรือ "กาวผึ้ง" ซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้จากผิวของรังผึ้ง มีลักษณะเหนียวคล้ายกาว โดยอ้างว่าสามารถช่วย "กระตุ้น"ภูมิคุ้มกันโควิดได้

 

 

เรื่องนี้แพร่สะพัดอยู่ในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก โดยที่หลายคนอ้างว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้

 

 

โพรพอลิส หรือ กาวผึ้ง เป็นสารธรรมชาติที่ได้จากผึ้ง และถูกขายเป็นยารักษาโรคแบบทางเลือกเพื่อรักษาอาการอักเสบ หรืออาการเจ็บปวด

 

 

สารชนิดนี้ได้รับอนุญาตให้ขายในอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี 2018 ในฐานะยาแผนโบราณและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

"โพรพอลิสอังกฤษ"( British propolis) ที่จำหน่ายในอินโดนีเซียมีบัญชีอย่างเป็นทางการทางอินสตาแกรม และได้อวดอ้างว่ามีสรรพคุณในการต่อต้านไวรัส แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงไวรัสก่อโรคโควิด-19

 

 

อย่างไรก็ตาม ในโพสต์หนึ่งของบัญชีดังกล่าวได้อ้างว่า การทานผลิตภัณฑ์นี้ร่วมกับการสวมหน้ากากอนามัยจะช่วย "การป้องกันจากภายใน ด้วยการเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย"

 

 

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ว่าสินค้าประเภทนี้สามารถป้องกันการติดโควิดได้

 

 

บีบีซีได้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าชนิดนี้ในอินโดนีเซีย เพื่อสอบถามถึงประเด็นนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

 

 

บีบีซีได้สอบถาม นพ.ฟาฮีม ยูนุส หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อประจำมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ในสหรัฐฯ เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเหล่านี้

 

 

เขาชี้ว่าไม่พบหลักฐานว่าสารธรรมชาติจากผึ้งนี้จะมีฤทธิ์ต้านทานโควิดได้

 

 

นอกจากนี้ บีบีซียังพบคำกล่าวอ้างอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้สารธรรมชาติในการป้องกันโควิดในอินโดนีเซีย อาทิ มีการอ้างว่าควรดื่มหรือสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากใบเสม็ดขาว (cajeput oil) ที่มักใช้ในการรักษาอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19

 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้สามารถป้องกันโควิดได้ โดยมันมีสรรพคุณคล้ายน้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัส และหากสูดดมเข้าไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ และมีการพิสูจน์แล้วว่าอาจเป็นอันตรายได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง