โควิด-19 : สายพันธุ์เดลตารุกอินโดนีเซีย บุคลากรการแพทย์นับร้อยติดเชื้อหลังฉีดซิโนแวค ห่วงไทยเดินตาม
แพทย์และบุคลากรด้านแพทย์กว่า 350 คน ในอินโดนีเซียติดเชื้อโควิด-19 และหลายสิบคนมีอาการหนักจนต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแม้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว ในขณะที่สายพันธุ์เดลตากำลังระบาดในประเทศ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวนี้จากกรุงจาการ์ตา เมื่อ 17 มิ.ย. โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคน หลังจากสถานีโทรทัศน์ของทางการจีน CGTN รายงานถึงประสิทธิภาพชั้นเยี่ยมของวัคซีนซิโนแวคเมื่อ 2 มิ.ย.
CGTN รายงานโดยอ้างผลการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียที่ชี้ว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ 98% ในการป้องกันการเสียชีวิต และ มีประสิทธิภาพ 94% ป้องกันไม่ให้คนป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล
แต่รอยเตอร์รายงานวันที่ 17 มิ.ย. อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ ดร. ปรีโย สิดิปราโตโม รังสีแพทย์ ในกรุงจาการ์ตา ว่า มีแพทย์อย่างน้อย 6 คน ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในรอบเดือนที่ผ่านมาทั้งที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 ในนั้น รักษาตัวในห้องไอซียู
รอยเตอร์ อ้างสถิติจากศูนย์ข้อมูลอาสา LaporCOVID-19 ว่า ตัวเลขรายเดือนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เสียชีวิในอินโดนีเซียตลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 158 รายในเดือน ม.ค. เป็น 13 รายในเดือน พ.ค. และ มีแพทย์อย่างน้อย 5 คน พยาบาล 1 คน ที่เสียชีวิตจากโควิด แม้ฉีดวัตซีนแล้ว หนึ่งในนั้นได้รับวัคซีนเพียงโดสเดียว
บาได อิสโมโย หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขในอำเภอคูดุส ในเกาะชวา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ มักไม่แสดงอาการ และกักตัวอยู่บ้าน แต่ก็มีเจ้าหน้าที่หลายสิบคนที่รักษาตัวในโรงพยาบาล มีไข้สูง และระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดลดลง
คูดุส มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขราว 5 พันคน เป็นพื้นที่เผชิญกับการระบาดรอบใหม่ เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำนวนการครองเตียงในโรงพยาบาลในขณะนี้สูงถึง 90%
สมาคมการแพทย์ของอินโดนีเซีย ระบุว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ถือเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีนก่อนประชากรกลุ่มอื่น ๆ ตั้งแต่เดือน ม.ค. โดยเกือบทั้งหมดได้รับวัคซีนซิโนแวคของจีน
"ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า คนเหล่านี้ได้รับสายพันธุ์เดลตาในคูดุส จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนมากกว่าแต่ก่อน อย่างที่เราทราบ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียได้รับวัคซีนโควิด และเรายังไม่รู้ว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพเพียงไรที่จะสู้กับสายพันธุ์เดลตาในชีวิตจริง" ดิกกิ บุดีมัน นักระบาดวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ใน ออสเตรเลีย กล่าว
เมื่อต้นเดือน องค์การอนามัยโลกอนุมติให้ใช้วัคซีนซิโนแวคเพื่อการใช้ฉุกเฉินในระดับนานาชาติ โดยระบุว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโรคที่แสดงอาการได้ 51% ของผู้รับวัคซีน และป้องกันอาการรุนแรง และการเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มตัวอย่าง
หมอศิริราชกังวล
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวกับบีบีซีไทยว่า บุคลากรการแพทย์ของไทยก็มีความกังวลในเรื่องนี้ ขณะนี้สถานการณ์ดูคล้ายกับของอินโดนีเซีย ที่ให้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนก่อนกลุ่มอื่น และได้วัคซีนซิโนแวค
"น่ากังวลครับ ตอนนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่แพทย์ และบุคลากรติดเชื้อแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบ ในฐานะกลุ่มคนที่เสี่ยงสูงสุดต่อการรับเชื้อ ควรต้องใช้วัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงสุด แต่ความเป็นจริง กลุ่มนี้ได้วัคซีนก่อนซึ่งกลายเป็นวัคซีนที่ประสิทธิภาพต่ำสุด" ศ.นพ.มานพ ให้ความเห็นทางเฟซบุ๊กแมสเซนเจอร์
เขาเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า อัตราการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนแล้ว หรือ vaccine breakthrough ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
"เราก็อยากรู้ว่า vaccine breakthrough บ้านเราเป็นไง" ศ.นพ.มานพกล่าว
เชื้อเดลตาในไทยเพิ่มจาก 10 เป็น 20 จังหวัด
16 มิ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากตัวอย่างเชื้อในไทยที่ส่งข้ามายังกรม ระหว่าง 7 เม.ย. -13 มิ.ย. จำนวน 5,055 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 4,528 ราย หรือ 89.6% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่มขึ้น 137 ราย เป็น 496 คน เพิ่มเป็น 20 จังหวัด พบมากที่สุดในกทม.สะสม 404 ราย เป็นรายใหม่ 86 ราย และ ยังพบ 10 ราย ในรพ.กลางกรุงเทพฯ 3-4 แห่ง อัตราการเพิ่มขึ้น จาก 8% เป็น 9.8%
นอกจากนี้ ยังพบเพิ่มที่ ปทุมธานี 28 ราย นครนายก 8 ราย สกลนคร 3 ราย พะเยา 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย เชียงราย เพชรบูรณ์ ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น อุดรธานี เลย และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย และก่อนหน้านี้มีรายงานพบที่ พิษณุโลก สมุทรสาคร ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย นนทบุรี สระบุรี ชัยภูมิ จังหวัดละ 2 ราย
"ความสามารถในการแพร่เชื้อของสายพันธุ์เดลตา มากกว่าสายอัลฟา 40% ซึ่งต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด เป็นรายสัปดาห์ หากสถานการณ์ยังทรงๆ อาจจะไม่มีปัญหา แต่หากยังมีการแพร่ระบาดแบบก้าวกระโดด คาดว่าประมาณ 2-3 เดือน อาจจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากขึ้น สัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับสายพันธุ์อัลฟา... ข้อมูลที่กรมวิทย์ฯ ออกมารายงานให้ทราบสม่ำเสมอนั้น ไม่ได้ต้องการทำให้ตกใจ แต่เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมโรค " นพ.ศุภกิจ กล่าว
ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่เริ่มพบที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 26 ราย ขณะนี้พบเพิ่มอีก 2 ราย นอก อ.ตากใบ แต่ยังอยู่ในจ.นราธิวาส ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังพบอีก 3 ราย ที่สถานกักกันตัวของรัฐ จ.สมุทรปราการ
ลำดับเวลา สายพันธุ์เดลตาในไทย
10 พ.ค. : ตรวจเจอเชื้อสายพันธุ์เดลตาในสถานกักตัวของรัฐ
พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา หรือที่ขณะนั้นเรียกกันในชื่อ "สายพันธุ์อินเดีย" ครั้งแรกในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
ผู้ป่วยเป็นเป็นหญิงไทยอายุ 42 ปี ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศปากีสถาน และเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. พร้อมกับลูกชาย 3 คน โดยแวะพักเครื่องที่ดูไบ เมื่อมาถึงประเทศไทย หญิงรายนี้และลูกชายวัย 4 ขวบได้แยกกักตัวที่ห้องหนึ่ง ส่วนลูกชายอีก 2 คน กักไว้อีกห้องหนึ่ง
ต่อมาผลการตรวจหาเชื้อครั้งที่หนึ่งออกมาว่าแม่และลูกชายวัย 4 ขวบ มีผลเป็นบวก ขณะที่ลูกอีก 2 คน มีผลเป็นลบ
21 พ.ค. : พบการระบาดในประเทศครั้งแรกในแคมป์คนงานหลักสี่
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่า ในแคมป์คนงานแห่งหนึ่งในเขตหลักสี่ มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมี 15 ราย ซึ่งมีผลยืนยันเป็นเชื้อสายพันธุ์อินเดีย B1.617.2 ซึ่งทั้งหมดเข้ารับการรักษาใน รพ. และทีมสอบสวนโรคเข้าดำเนินงานทันที
"เรื่องของสายพันธุ์อินเดียก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้จำนวนมาก ๆ ขณะเดียวกันก็มีการรายงานในหลายประเทศ ของเราเองก็เริ่มมีเข้ามา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
31 พ.ค. : พบในต่างจังหวัดครั้งแรก
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จากการส่งตรวจสารพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อ 4 ราย ที่มีการยืนยันไปก่อนหน้า ผลพบว่า เป็นสายพันธุ์อินเดีย โดยประวัติทั้ง 4 คน พบ 3 คน ทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ พื้นที่ปทุมวัน และหลักสี่ ส่วนอีก 1 คน เป็นนักเรียนอายุ 13 ปี
ในเวลาต่อมา ในวันที่ 7 มิ.ย. นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สำนักงานสาธารณสุข จ. อุดรธานี ให้ข้อมูลว่า พบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มเติม จากคลัสเตอร์งานบายศรีสู่ขวัญ
ซึ่งตามข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.อุดรธานี มีผู้ป่วยสายพันธุ์เดลสูงสุดรองจากกรุงเทพฯ คือ 17 ราย
7 มิ.ย. : กรมวิทย์จับตาสายพันธุ์เดลตา แม้ว่า"อัลฟายังครองเมืองอยู่"
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวหัวข้อ "การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย" ว่า การถอดรหัสเชื้อไวรัสที่ระบาดระลอกใหม่ของไทยใน 3,595 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ หรือกว่า 90% เป็นสายพันธุ์อัลฟา หรือ สายพันธุ์อังกฤษเดิม
โดยสายพันธุ์เดลตานั้น ตรวจเจอแล้ว 235 ราย คิดเป็นสัดส่วน 6% ของสายพันธุ์ที่พบทั้งหมด โดยพบในกรุงเทพมหานครมากที่สุด 206 ราย นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย สระบุรี 2 ราย อุดรธานี 17 ราย นครราชสีมา 2 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย สมุทรสาคร 1 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
ข้อมูลอัพเดตเวลา 12.00 น. ของวันที่ 9 มิ.ย. พบว่า จากจำนวนการสุ่มสำรวจผู้ติดเชื้อ 4,185 ราย พบสายพันธุ์เดลตา 348 ราย ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนจังหวัดที่กระจายเพิ่มเติมมี ขอนแก่น ชัยภูมิ ทำให้ขณะนี้มีการกระจายของสายพันธุ์ดังกล่าวไปแล้ว 12 จังหวัดทั่วประเทศ
16 มิ.ย. : สายพันธุ์เดลตากระจาย 20 จังหวัด
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงกรณีการตรวจสอบสายพันธุ์โควิดที่พบในประเทศไทยว่า จากตัวอย่างเชื้อที่ส่งข้ามายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. -13 มิ.ย. จำนวน 5,055 ตัวอย่าง
พบว่าส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์อัลฟา 4,528 ราย คิดเป็น 89.6% สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เพิ่มขึ้นจาก 359 รายที่รายงานไปก่อนหน้านี้ เป็น 496 คน หรือเพิ่ม 137 ราย มากสุดคือ กรุงเทพฯสะสม 404 ราย อัตราการเพิ่มขึ้น จาก 8% เป็น 9.8%
จนถึงขณะนี้พบความเชื่อมโยงไปตามจังหวัดต่าง ๆ ไปแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี เชียงราย เพชรบูรณ์ สระบุรี ปทุมธานี นครนายก สมุทรสาคร ชลบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สกลนคร พะเยา จันทบุรี อุดรธานี เลย พิษณุโลก ร้อยเอ็ด