อาเซียนสะบักสะบอม โควิดเดลตาลาม สำรวจชะตาแต่ละชาติ
อาเซียนสะบักสะบอม - ซีเอ็นเอ็น รายงานสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระบาดอย่างหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลต่างพยายามควบคุมการระบาดอย่างเต็มที่ แต่เมื่ออัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำมาก ทำให้การระบาดลามเกินกว่าการควบคุม
นอกจากนี้ยังอุปสรรคมากมาย ทั้งขาดแคลนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์และออกซิเจน รวมทั้ง ออกมาตรการเข้มงวดต่างๆ เช่น ล็อกดาวน์ ปิดโรงงานในแหล่งระบาด
เวียดนาม
ปีที่แล้ว เวียดนามมีบทบาทโดดเด่นมากในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ปีนี้ สถานการณ์กลับกัน ตั้งแต่เดือน เม.ย. การระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในนครโฮจิมินห์ ซิตี ทำให้ต้องล็อกดาวน์เมืองใหญ่อย่างกรุงฮานอยและโฮจิมินห์ ซิตี
มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปสกินส์ ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อสะสม 177,813 คน ในจำนวนนี้ กว่าร้อยละ 85 เป็นผู้ติดเชื้อเมื่อเดือนที่แล้วเพียงเดือนเดียว ส่วนผู้เสียชีวิต 2,327 รายโดยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตในช่วงเดือนที่ผ่านมา ขณะที่มีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสเพียง 0.6 จากประชากรทั้งหมด 96 ล้านคน
อินโดนีเซีย
การระบาดรุนแรงทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 50,000 รายในแต่ละวัน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 354ล้านคน ในจำนวนนี้ ติดเชื้อเมื่อเดือนที่แล้ว 1.2 ล้านคน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ได้ทดสอบการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนผู้เสียชีวิตพุ่งเกินกว่า 100,000 รายไปแล้วเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอินโดนีเซียกำลังรับกรรมจากการที่ไม่สั่งล็อกดาวน์อย่างเคร่งครัดและไม่ลงทุนกับระบบติดตามผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยทำให้ต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดระดับสูงสุดในหลายเมือง ทั้งกรุงจาการ์ตา เกาะชวาและเกาะบาหลีอีก 1 สัปดาห์
มาเลเซีย
แม้มาเลเซียล็อกดาวน์ทั่วประเทศ แต่ตัวเลขทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 1 ล้านคนแล้วและมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันพุธ 19,819 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อเดือนที่แล้วซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 7,000 คน ส่วนผู้เสียชีวิตเมื่อวันพุธเพิ่มขึ้นเป็น 257 รายและเป็นนิวไฮเช่นกัน
ประชาชนต่างโกรธแค้นรัฐบาลที่ควบคุมการระบาดล้มเหลวทำให้ชาวมาเลเซียหลายร้อยคนฝ่าฝืนคำสั่งล็อกดาวน์ในกรุงกัวลา ลัมเปอร์ออกมาประท้วงขับไล่นายมุฮ์ยิดดิน ยัซซิน นายกรัฐมนตรี ส่วน ส.ส. พรรคฝ่ายค้านก็ร่วมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเช่นกัน
ขณะที่บุคคลากรทางการแพทย์หลายพันคนออกมาประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพราะสภาพในโรงพยาบาลแออัดไปด้วยผู้ป่วยโควิด-19 แต่เตียงและเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ
ไทย
ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตรายวันทำนิวไฮเกือบทุกวัน ท่ามกลางการขาดแคลนเตียงผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และต้องขอกำลังจากแพทย์ชนบท 400 คนให้มาทดสอบการติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนอาศัยหนาแน่น
เมื่อวันอังคาร รัฐบาลขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ครอบคลุม 29 จังหวัดทำให้ประชากรเกือบร้อยละ 40 ของประเทศต้องตกอยู่ในพื้นที่ควบคุม แต่มีประชาชนหลายพันคนฝ่ากฎระเบียบล็อกดาวน์ออกมาประท้วงขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันอาทิตย์
ขณะที่มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว ร้อยละ 23 ของประชากร 70 ล้านคนและมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
เมียนมา
เมียนมาตกที่นั่งลำบาก ทั้งวิกฤตการเมืองและโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจากวันละเฉลี่ย 100 คนเมื่อเดือน มิ.ย. พุ่งขึ้นเป็นวันละ 5,000 คน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 315,118 คนและเสียชีวิต 10,373 ราย แต่แพทย์และอาสาสมัครคาดว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้
โรงพยาบาลเมียนมาขาดแคลนทั้งเตียงและออกซิเจน รวมทั้ง บุคคลากรทางการแพทย์ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 เลือกที่จะแยกรักษาตัวเองที่บ้านมากกว่า
ด้านสหประชาชาติคาดว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศที่ยังใช้การได้มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองเพราะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย
บุคคลากรทางการแพทย์หรืออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ถูกทำร้ายและโจมตีอย่างน้อย 260 ครั้งนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. อีกทั้ง มีบุคคลากรทางการแพทย์อย่างน้อย 67 คนยังถูกควบคุมตัว
ส่วนแพทย์และพยาบาลกว่า 600 คนถูกหมายจับทำให้นานาชาติเรียกร้องให้ยูเอ็นขอให้เมียนมายุติการพุ่งเป้ามาที่บุคคลากรทางการแพทย์โดยถือว่าเป็น “การหยุดยิงช่วงโควิด”