รีเซต

จัด 3 หมื่นล้าน ช่วยเยียวยา 10 จังหวัด ม.33 รับคนละ 2,500 บาท 1 เดือน ม.40 หัวละ 5 พันบาท

จัด 3 หมื่นล้าน ช่วยเยียวยา 10 จังหวัด ม.33 รับคนละ 2,500 บาท 1 เดือน ม.40 หัวละ 5 พันบาท
มติชน
14 กรกฎาคม 2564 ( 07:10 )
64
จัด 3 หมื่นล้าน ช่วยเยียวยา 10 จังหวัด ม.33 รับคนละ 2,500 บาท 1 เดือน ม.40 หัวละ 5 พันบาท

จัด 3 หมื่นล้าน ช่วยเยียวยา 10 จังหวัด ม.33 รับคนละ 2,500 บาท 1 เดือน ม.40 หัวละ 5 พันบาท ไฟเขียวลดค่าน้ำ-ค่าไฟทั่วประเทศเริ่มก.ค.-ส.ค.

 

 

 

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ภายในบ้านพักส่วนตัวเนื่องจากต้องกักตัว 14 วัน จากสัมผัสใกล้ชิดบุคคลที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ ภายหลังนายกฯได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ต้องมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่ต้องปิดสถานที่และกิจการต่างๆ เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อพี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมได้รับรู้ปัญหาของพี่น้องกลุ่มต่างๆ และไม่เคยหยุดคิดที่จะหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด โดยมาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเสนอมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุดการเยียวยาในครั้งนี้ แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณพอสมควร แต่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีความจำเป็น เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ขอให้พวกเราทุกคนไม่ยอมแพ้ต่อช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมและรัฐบาลจะหาทางช่วยทุกท่านให้ได้มากที่สุด และจะไม่มีวันยอมแพ้ต่อสงครามครั้งนี้ ไม่ลดละเลิกล้มความพยายาม ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ และจะสู้จนกว่าเราจะเอา
ชนะได้

 

 

 

  • ครม.ไฟเขียวช่วย 10 จว.แดงเข้ม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. จ.นครปฐม จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สงขลา เพื่อช่วยลดผลกระทบในระยะสั้นสำหรับกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคมใน 9 สาขา ได้แก่ (1) ก่อสร้าง (2) กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (3) กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ (4) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด (5) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (6) การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ (7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (8) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ (9) สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

 

 

 

  • ม.33 รับเงินเพิ่ม 2,500/1เดือน

นายอนุชากล่าวว่า มีมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้ 1.กลุ่มแรงงานและนายจ้างผู้ประกอบการ ระยะเวลา 1 เดือน ในระบบประกันสังคมผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย : จ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้าง 2,500 บาท/คน เพิ่มเติมจากจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน เป็นผลให้ ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท/คน ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 สัญชาติไทย : ที่ยังประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน นายจ้างและผู้ประกอบการ : จ่ายให้นายจ้างตามจำนวนสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ

 

 

 

  • นอกระบบขึ้นทะเบียนรับ 5 พัน

นายอนุชากล่าวว่า นอกระบบประกันสังคม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ไม่ได้อยู่ในระบบ ม.33/ม.39 และ ม.40) : ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน นายจ้าง/ผู้ประกอบการ กรณีที่มีลูกจ้าง: ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ ขณะที่ลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง : ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน กรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน

 


ส่วน ผู้ประกอบการในระบบ ถุงเงิน โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค่าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน กรณีที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อผู้ประกอบการจะได้รับเงินตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ และลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ
2,500 บาท/คน

 

 

 

  • ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 2 เดือนทั่วปท.

นายอนุชากล่าวว่า ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ ลดค่าไฟฟ้า-ลดค่าน้ำประปา ระยะเวลา 2 เดือน (กรกฎาคม-สิงหาคม 2564) ดังนี้ บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน : ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ขณะที่บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน : กรณีน้อยกว่าหรือเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง กรณีมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน ให้จ่ายเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผู้ใช้ไฟฟ้า 501-1,000 หน่วย/เดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2564+ 50% ของหน่วยไฟฟ้าที่เพิ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 1,000 หน่วย/เดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 + 70% ของหน่วยไฟฟ้าที่เพิ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้กิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก กิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะ องค์กรไม่แสวงหากำไรและการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยให้จ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (demand Charge) ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จ่ายจริง และลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ระยะเวลา 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน 2564)

 

 

 

  • สัปดาห์หน้าเอสเอ็มอี-ค่าเรียน

นายอนุชากล่าวว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน ได้มีประกาศให้สถานศึกษาภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ พร้อมให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ พร้อมให้จัดทำข้อเสนอโครงการในลักษณะรัฐร่วมสมทบภาระส่วนลดให้แก่สถานศึกษาบางส่วน เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะพิจารณาแนวทางทางการเงินเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาภาคเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงินที่เหมาะสมด้วย

 

 

 

  • ย้ำใช้วงเงินมาตรการ 3 หมื่นล้าน

นายอนุชากล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้สถาบันการเงินนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินด้วย กรอบวงเงินสำหรับมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ จำนวน 30,000 ล้านบาท สำหรับมาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ให้ กฟน. กฟภ. กปน.และ กปภ. ขอรับสนับสนุนภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ ครม.ยังมีจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไปโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศต่อไปด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง