เปิดกลยุทธ์ธุรกิจเพชร ทำไมยังโตได้ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สร้างผลกระทบไปแทบจะทุกกลุ่ม ที่ผ่านมาเราต้องเผชิญกับวิกฤตนี้ถึง 3 ระลอกแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจเพชร ที่ส่วนใหญ่อาศัยการจำหน่ายหน้าร้าน เมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ ห้างสรรพสินค้า และหน้าร้านเพชรจะต้องปิดบริการชั่วคราว ผู้ค้าเพชรหลายรายจึงได้รับผลกระทบไปตามๆกัน
บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)(JUBILE) ผู้ดำเนินธุรกิจเพชรแท้มามากกว่า 90 ปี และยังเป็นผู้ค้าเพชรรายเดียวในประเทศไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นผู้ค้าเพชรที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ กว่า 127 สาขา โดยมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจค้าปลีกเพชรอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งยูบิลลี่มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท มียอดขายที่เติบโตขึ้นกว่า 400% นับตั้งแต่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังเป็นหนึ่งในบริษัทค้าเพชรที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19โดยตรง
วิกฤตโควิด-19 ทำให้ร้านเพชรต้องปิดทุกสาขาเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ทำธุรกิจมากว่า 90 ปี
น.ส.อัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)(JUBILE) บอกว่า นับตั้งแต่บริษัทฯดำเนินธุรกิจเพชรมานานกว่า 90 ปี ไม่ว่าจะเจอกับวิกฤตน้ำท่วม ปัญหาการเมือง แม้จะได้รับผลกระทบแต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤตโควิด-19 ที่จำเป็นจะต้องปิดสาขาทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ถือเป็นวิกฤตที่กระทบไปในวงกว้างเนื่องจากเกิดขึ้นกับทั่วโลก ซึ่งในส่วนของยูบิลลี่ก็ได้ปรับตัวโดยมองเห็นโอกาสในการทำช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์ ่ โดยก่อนหน้านี้ ยูบิลลี่ได้ทำ collaboration กับ LINE FRIENDS ที่ออกแบบสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือลูกค้าใหม่ๆมากขึ้น และมีจำหน่ายในออนไลน์ สโตร์ ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้นจึงได้นำสินค้าเครื่องประดับเพชรทั้งหมดจำหน่ายบนช่องทางอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเพิ่มช่องทางการขายของธุรกิจค้าเพชร และยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างยอดขายในช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้วย
อัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์
ภาพจาก Chom PR สื่อสารองค์กร ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์
ยอดขายผ่านออนไบน์ สะท้อนสัญญานที่ดี เมื่อผู้คนปรับตัวได้กับ New Normal
ผลตอบรับจากการเพิ่มช่องทางออนไลน์ ทำให้ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 80% และเป็นลูกค้าฐานสมาชิกอีก 20% ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จากเดิมที่มีเฉพาะช่องทางออฟไลน์หรือหน้าร้านมีสัดส่วนลูกค้าเก่าประมาณ 40-50% ส่วนลูกค้าใหม่จะประมาณ 50-60% แม้ว่าการจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซในปีที่ผ่านมาจะสามารถทำยอดขายได้เพียง 3% ของยอดขายรวม เนื่องจากเครื่องประดับส่วนใหญ่บนอีคอมเมิร์ซจะมีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย หากเทียบกับช่องทางออฟไลน์ยอดขายจะมาจากสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่า เพราะยังเป็นช่องทางที่ลูกค้าคุ้นเคยและชื่นชอบ
ภาพจาก Chom PR สื่อสารองค์กร ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์
ประเมินสถานการณ์ เตรียมบุกช่องทางออฟไลน์อีกครั้ง
ด้านการจัดอีเวนท์ หรือกิจกรรมส่งเสริมการขาย ที่ปกติจะขึ้นในทุกๆปี ซึ่งหลังจากประสบกับวิกฤตโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ยังทำให้บริษัทเลื่อนการจัดกิจกรรมต่างๆนี้ออกไปก่อน แต่จะจับตาสถานการณ์ต่อจากนี้หากคลี่คลายไปในทางที่ดี ยอดการกระจายวัคซีนต้านโควิด รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆลดลง และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเฟสถัดไป ยูบิลลี่ก็คาดว่าประมาณไตรมาสที่ 4 ปีนี้อาจจะเริ่มเห็นอีเวนท์ของบริษัท แต่จะต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะความเข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อเร่งผลักดันยอดขายช่องทางออฟไลน์ควบคู่ไปกับออนไลน์
ภาพจาก Chom PR สื่อสารองค์กร ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์
"จากกลยุทธ์การส่งเสริมการขายในช่องทางออนไลน์ ทั้งการจับมือกับพันธมิตร ตลอดจนการขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ๆ ผ่านการจัดกิจกรรมการตลาดทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะการหันมาจับตลาดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นด้วย ประกอบกับความน่าเชื่อถือของยูบิลลี่ การรับประกันคุณภาพ ทั้งการออกใบเซอร์ฯ ตลอดจนบริการหลังการขายต่างๆที่เหมือนกับซื้อหน้าร้าน ทำให้รายได้ช่วงที่ผ่านมา หรือแม้จะมีสถานการณ์โควิด ผลประกอบการก็ยังออกมาดีอยู่
ในครึ่งปีหลังกลยุทธ์การทำตลาดที่สำคัญคือบุกช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น สื่อสารการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ ดังนั้นกลยุทธ์ต่อจากนี้จึงอยากจะบุกช่องทางนี้ต่อเนื่อง ส่วนการทำตลาดออฟไลน์อาจจะจัดอีเวนท์ต่างๆได้เป็นบางส่วน เช่น สาขาต่างจังหวัดที่เปิดให้บริการได้ หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายหรือมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ห้างค้าปลีก และร้านยูบิลลี่กลับมาเปิดให้บริการได้ บริษัทต้องผลักดันยอดขายออฟไลน์ให้เติบโตเต็มที่ เพราะถือเป็นช่องทางหลักที่ลูกค้าคุ้นเคยและชื่นชอบ" น.ส.อัญรัตน์ กล่าว
ภาพจาก Chom PR สื่อสารองค์กร ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์
ไม่กังวลแผนธุรกิจ แต่ต้องดูสถานการณ์ก่อนฟันธงรายได้ทั้งปี
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก บริษัทสร้างยอดขายประมาณ 676 ล้านบาท เติบโต 9.6% ส่วนกำไรสุทธิประมาณ 88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% เดิมบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายทั้งปีเติบโต 10% แต่จากภาวะการแพร่ระบาดโควิด และตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชะลอตัว และมาตรการล็อกดาวน์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องรอดูทิศทางธุรกิจไตรมาส 3 เพื่อประเมินการเติบโตอีกครั้ง โดยยืนยันว่าไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับแผนธุรกิจโครงสร้างธุรกิจ หรือแผนการดำเนินธุรกิจ เพราะหากสถานกาณณ์กลับมาเป็นปกติบริษัทฯก็พร้อมที่จะเดินหน้าธุรกิจไปข้างหน้าต่อเนื่อง
"ตอนต้นปี ม.ค. ตั้งเป้าไว้ที่ 10 % แต่คิดว่าถ้าจะโตได้ยากด้วยสถานกาณณ์และปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีข้อกังวลรูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือแผนธุรกิจ แม้โควิดจะยังอยู๋กับเราไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่ด้วยโครงสร้างธุรกิจที่วางไว้ รวมทั้งประชาชนเริ่มปรับตัวกับวิถี New Normal ได้ ก็เชื่อว่าธุรกิจของยูบิลลี่เองก็จะมีการปรับตัวและพัฒนาไปข้างหน้าต่อไปเรื่อยๆแน่นอน" น.ส.อัญรัตน์ กล่าว
ที่มาภาพ : บริษัท Chom PR สื่อสารองค์กร ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์