กรมอุทยานฯ ปิดถ้ำนาคา 1 เดือน ฟื้นฟูธรรมชาติ เริ่ม 1 พ.ค.นี้
วันนี้ (26 เม.ย.65) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการปิด "ถ้ำนาคา" เป็นเวลา 1 เดือน เริ่มในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ว่า เป็นไปตาม นโยบายที่กระทรวงได้มอบให้ไว้ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ว่า อุทยานทั่วประเทศนั้น ใน 1 ปี จะต้องมีการปิดตัวลงอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ได้พักธรรมชาติ
และเจ้าหน้าที่ได้ไปซ่อมแซมพัฒนาปรับปรุงการทำงาน ตั้งระบบต่างๆ ภายในอุทยานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถ้ำนาคาก็เป็นหนึ่งในที่ที่ประชาชนให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนมาก
ดังนั้น การปิดตัวลง 1 เดือน ก็เป็นไปตามนโยบายของกระทรวง รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่กระทรวง โดยเฉพาะในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวด้วยการลำเลียงทางอากาศหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบ รวมถึง การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในอนาคต
ส่วนการ "เปิดประเทศ" ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ในส่วนของอุทยานต่างๆ ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ดูแล ได้กำชับให้ใช้มาตรการเดียวกับในช่วงเทศการสงกรานต์ ในการดูแลนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น โดยยังคงเน้นมาตรการด้านสาธารณสุข เว้นระยะห่าง ทำความสะอาด จำกัดนักท่องเที่ยว
ใช้ระบบการจองคิวออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น QueQ และตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ทางกระทรวงได้ห้ามนำเอาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าอุทยาน จึงขอฝากให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
สำหรับ "ถ้ำนาคา" เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการที่พื้นผิวของหินเกิดการกัดกร่อนไปตามปรากฎการณ์ซันแครก (sun crack) ทำให้มีลวดลายคล้ายเกล็ดปลาหรือเกล็ดงู ประกอบกับการโค้งตัวของหินทำให้รูปร่างโดยรวมคล้ายกับการขดตัวของงูใหญ่หรือพญานาค
ตามตำนานความเชื่อเรื่องเจ้าปู่อือลือที่ถูกสาปให้เป็นพญานาคและถูกจองจำ จะพ้นคำสาปและทำให้พื้นที่นั้นได้เป็นที่รู้จักและเจริญรุ่งเรือง ก็ต่อเมื่อครบ
10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการครบรอบการก่อตั้งจังหวัดบึงกาฬ 10 ปี ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้มีผู้ได้มาพบเห็นถ้ำแห่งนี้ และเกิดการกระจายข่าวไปตามความเชื่อส่วนบุคคลจนเป็นที่โด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติชั่วคราว (น้ำตกตาดวิมานทิพย์) บ้านตาดวิมานทิพย์ ต.โพธิ์หมากแข้ง อบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมมาก เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันที่มีฝนตกหนัก สามารถขึ้นชมได้ทุกฤดูกาล โดยในแต่ละฤดูกาลจะให้ภาพและบรรยากาศแตกต่างกันไป
ในฤดูฝนจะเกิดมอส เฟิน และพืชพันธุ์ต่าง ๆ เกาะตามผิวหินทำให้ดูมีชีวิตชีวา ในฤดูร้อนจะเห็นผิวหินชัดเจน และระหว่างทางจะเต็มไปด้วยบรรดาพืชพันธุ์ดอกไม้ ทั้งไม้พุ่มและไม้ยืนต้นที่กำลังออกดอก เช่น ข่อยหิน เต็ง รัง คำมอกหลวง ม้าวิ่ง อะราง ตะแบกเกรียบ เป็นต้น
ระยะทางจากจุดเริ่มต้นไปถึงถ้ำนาคาประมาณ 1,400 เมตร ทางเดินเป็นทางเดินธรรมชาติ ประกอบด้วย บันไดเป็นช่วง ๆ สลับกับพื้นดิน และมีบางจุดจะต้องดึงเชือกเพื่อช่วยพยุงตัวทั้งตอนขึ้นและลง
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ เจดีย์หลวงปู่เสาร์ เจดีย์หลวงปู่วัง ถ้ำหลวงปู่วัง และหัวนาคาที่ 1 เป็นต้น ใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 4-5 ชั่วโมงเหมาะแก่ผู้ที่มีสภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ตั้งครรภ์ และไม่มีโรคประจำตัว
ภาพจาก สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช