นักวิชาการจุฬาฯชี้ ไทยครองแชมป์โลกอัตราขยายเชื้อโควิด 19
วันนี้ ( 18 เม.ย. 64 )ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในปปัจจุบันระบุว่า
“ประเทศไทยผงาดเป็นแชมป์โลก Reproduction Rate - R สูงสุด
17 เมษายน 2564 ประเทศไทยที่ผ่านมาเคยได้รับคำชมว่า บริหารการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดีเยี่ยมของโลกประเทศหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปปีกว่า จนล่าสุดเกิดกรณีสถานบันเทิงซอยทองหล่อ ผสมกับการส่งเสริมผิดที่ผิดเวลา ให้ประชาชนออกเที่ยวช่วงสงกรานต์ เป็นผลทำให้เกิดการระบาดไปเกือบทุกจังหวัด
ปรากฏว่า ในขณะที่ อัตราการขยายเชื้อโควิด-19 (Reproduction Rate - R)* ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ประเทศไทยกลับมีค่า R ทะยานขึ้นจนถือเป็น “แชมป์โลก” มีค่า R = 2.27 ทิ้งอันดับ 2 คือ Surinam ทีมี R = 1.79 ค่อนข้างห่าง โดยที่ R ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 1.17 (ภาพที่ 1 และ 2 Ref: Our World in Data)
ในประเด็นนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้
(1) ด้วย R = 2.27 หมายความว่า คนไทยติดเชื้อหนึ่งคนจะสามารถแพร่ต่อไปให้อีก 2.27 คน ถ้าประเทศไทยไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ในช่วง 30 วันจากนี้ไป ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก้าวกระโดดไปถึง 136,821 คนต่อวัน ดังตารางในภาพที่ 3
(2) มาตรการที่ดูเหมือนจะได้ผลที่สุดและถือเป็นมาตรการหลักทั่วโลก คือ การฉีดวัคซีน ตัวอย่างคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งฉีดตั้งแต่ปลายธันวาคมที่ผ่านมา ในภาพที่ 4 จะเห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของสหรัฐได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากเริ่มฉีดวัคซีนเพียงหนึ่งเดือน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอาจดูจำนวนมาก แต่ด้วยค่า R ของสหรัฐปัจจุบันอยู่ที่ 1.08 จึงถือได้ว่าประเทศสหรัฐใกล้พ้นจากภาวะโควิดระบาดแล้ว โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะค่อยๆน้อยจนกลายเป็นศูนย์
(3) ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เร่งฉีดวัคซีนสูงสุด คือ อินโดนีเซีย และดูเหมือนจะได้ผลดีมาก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ปรากฏว่า อินโดนีเซียมีการระดมฉีดวัคซีนถึง 16.1 ล้านโดส (เท่ากับ 5.8% ของประชากร) เทียบกับประเทศไทยที่ฉีดเพียง 0.58 ล้านโดส (เท่ากับ 0.83% ของประชากร) ทำให้ผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างรวดเร็วด้วยค่า R = 1.0 พอดี จากที่เคยสูงสุดวันละ 12,751 คน ลดลงมาเหลือ 5,211 คน ถ้าอินโดนีเซียสามารถรักษาค่า R =1.0 หรือต่ำกว่า ผู้ติดเชื้อรายวันคงลดลงมาจนเหลือศูนย์ในไม่ช้า
(4) บทสรุปคำแนะนำต่อรัฐบาล
ปัจจุบันนี้ มาตรการการใส่แมสก์เว้นระยะห่างในสถานที่ชุมนุมคน อาจไม่ ”เวิร์ค” เพียงพอสำหรับสังคมไทยที่มีชนชั้นอภิสิทธิอยู่ทั่วไป อีกทั้งการปิดประเทศต่อย่อมมีผลกระทบทางเศรษฐกิจเกินกว่าที่จะรับได้ แต่อย่าลืมว่า ด้วยค่า R สูงระดับนี้ ถึงเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวคงต้องคิดหนักที่จะตัดสินใจมาประเทศไทย
ทางออกทางเดียว คือ รัฐบาลต้องรีบระดมให้มีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศตามลำดับความสุ่มเสี่ยง โดยถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ก่อนที่จะสายไป ถ้าบริหารเองไม่ไหว ก็ต้องเปิดเสรีให้โรงพยาบาลและคลีนิคเอกชนบริหารให้ โดยรัฐต้องให้งบประมาณสนับสนุน ดีกว่าใช้งบประมาณเรี่ยราดในสิ่งเหลวไหลที่ไร้ประโยชน์
หมายเหตุ: * อัตราการขยายเชื้อ (Reproduction Rate) หรือ R เป็นค่าที่บอกให้เราว่า ในสภาวะปัจจุบัน (ถ้าไม่มาตรการอะไรเปลี่ยน) ผู้ติดเชื้อ 1 คนจะแพร่ให้ผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน R คน ถ้าหากค่า R สูงกว่า 1.0 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะขยายได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง (โรคระบาด) แต่ถ้าค่า R ต่ำกว่า 1.0 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงเรื่อยๆอย่างรวดเร็วเช่นกันจนเหลือศูนย์ (โรคไม่ระบาด)”