รีเซต

โควิดคร่าชีวิตแพทย์ทั่วโลกราว 1.8 แสนคน โครงการ COVAX ล้มเหลว จับตามอง Delta Plus ระบาดรอบใหม่

โควิดคร่าชีวิตแพทย์ทั่วโลกราว 1.8 แสนคน โครงการ COVAX ล้มเหลว จับตามอง Delta Plus ระบาดรอบใหม่
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2564 ( 12:43 )
86
โควิดคร่าชีวิตแพทย์ทั่วโลกราว 1.8 แสนคน โครงการ COVAX ล้มเหลว จับตามอง Delta Plus ระบาดรอบใหม่

◾◾◾

🔴 โควิดคร่าแพทย์เกือบ 2 แสนคน 


องค์การอนามัยโลก แถลงว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาจคร่าชีวิตบุคลากรทางการแพทย์แล้วระหว่าง 80,000-180,000 คน ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนพฤษภาคม ปีนี้  


สาเหตุเกิดจากความไม่เท่าเทียมในการแจกจ่ายวัคซีน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศที่มีรายได้น้อยก็ได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึงเช่นกัน พร้อมกับยังมีความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Delta Plus


ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ต้องให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก และยังวิจารณ์ถึงความไม่ยุติธรรมในการแจกจ่ายวัคซีนด้วย


ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 135 ล้านคนทั่วโลก ผู้อำนวยการ WHO ระบุว่า  ข้อมูลจาก 119 ประเทศ พบว่า เฉลี่ยแล้ว มีบุคลากรทางการแพทย์ 2 ใน 5 คนทั่วโลกที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว


แต่บุคลากรทางการแพทย์ในแอฟริกาที่ได้รับวัคซีนครบ มีไม่ถึง 1 ใน 10 คน ขณะที่ ในประเทศที่มีรายได้สูง มีบุคลากรทางการแพทย์ 8 ใน 10 คนที่ได้ฉีดวัคซีนครบแล้ว


ปัจจุบันการฉีดวัคซีนต้านโควิดทั่วโลกไปแล้วกว่า 6,760 ล้านโดส และมีผู้ได้รับวัคซีนครบแล้ว 36.9% ขณะที่ ประชากรแอฟริกาไม่ถึง 5% ที่ได้รับวัคซีน เมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ ที่ได้รับวัคซีนถึง 40%


◾◾◾

🔴 ประเทศยากจนขาดแคลนวัคซีน


สำนักข่าว BBC รายงานว่า วัคซีนต้านโควิดส่วนใหญ่ถูกใช้ในประเทศที่มีรายได้สูงหรือรายได้ปานกลางระดับสูง ขณะที่ แอฟริกามีสัดส่วนการใช้วัคซีนเพียง 2.6% ของปริมาณวัคซีนที่ใช้ทั่วโลก


ก่อนหน้านี้ ดร.บรูซ ไอล์วาร์ด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ WHO เตือนว่า การขาดแคลนวัคซีนในประเทศยากจน อาจทำให้การระบาดของโควิด-19 จะลากยาวต่อไปอีก 1 ปี ไปถึงปี 2022 โดยไม่จำเป็น 


เนื่องจากประเทศที่มีรายได้น้อยยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 มากพอ และอัตราการฉีดวัคซีนก็ยังไปไม่ถึงไหนเลย พร้อมกับขอร้องให้ประเทศร่ำรวย เสียสละการเข้าคิวจองซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อให้ทางผู้ผลิต สามารถผลิตวัคซีนให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำที่สุดก่อน


ด้านผู้อำนวยการ WHO ยังได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย 20 ประเทศ ที่จะจัดการประชุมสุดยอด G-20 กันในสัปดาห์หน้า จัดการบริจาควัคซีนโควิดให้ประเทศยากจนในแอฟริกา ซึ่งยังมีอัตราการฉีดวัคซีนล่าช้า และขอให้เร่งแบ่งปันวัคซีนให้สำเร็จโดยเร็วตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ 



◾◾◾

🔴 โครงการ COVAX ล้มเหลว


ท่ามกลางปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19  โครงการ ‘COVAX’’ ซึ่งเป็นโครงการของสหประชาชาติ หรือ UN ที่ต้องการแจกจ่ายวัคซีนให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลางอย่างทั่วถึงและยุติธรรม ถูกมองว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง 


จนถึงขณะนี้ โครงการ COVAX ซึ่งตั้งเป้าจะจัดส่งวัคซีนต้านโควิดจำนวน 2,000 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ สามารถจัดส่งวัคซีนได้เพียง 371 ล้านโดสเท่านั้น


ข้อมูลล่าสุดจากกลุ่ม ‘Peopole's Vaccine’ กลุ่มพันธมิตรองค์การกุศล ที่รวมถึง Oxfam และ UNAIDS ระบุว่า วัคซีนต้านโควิดที่ประเทศร่ำรวยได้ประกาศบริจาค และที่บริษัทยาที่ผลิตวัคซีนสามารถผลิตได้ทั้งหมดนั้น มีเพียง 1 ใน 7 โดสเท่านั้น ที่ไปถึงจุดหมายปลายทางในประเทศยากจน พร้อมกับตำหนิสหราชอาณาจักรและแคนาดาว่า ‘เป็นประเทศร่ำรวย’ แต่ยังขอจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด ผ่านทางโครงการ COVAX 


ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้รับวัคซีน Pfizer ผ่านโครงการ COVAX เป็นจำนวน 539,370 โดส ส่วนแคนาดาได้รับ AstraZeneca เกือบ 1 ล้านโดสผ่าน COVAX 



◾◾◾

🔴 จับตา 'Delta Plus' ระบาดรอบใหม่


นอกจากเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนอย่างไม่เป็นธรรม อีกหนึ่งความกังวลที่กำลังถูกจับตาทั่วโลก คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุย่อย ที่มีชื่อว่า 'Delta Plus'


เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอิสราเอลยืนยัน เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า เด็กชายอายุ 11 ปีผู้หนึ่งมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก และพบว่าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่มีชื่อว่า AY4.2 ซึ่งเรียกกันว่า 'Delta Plus' หลังเดินทางจากมอลโดวา มายังสนามบินนานาชาติเบนกูเรียน ในเทลอาวีฟ โดยเจ้าหน้าที่ได้กักตัวเด็กชายผู้นี้ไว้ทันที พร้อมระบุว่า เขายังมีสุขภาพแข็งแรงดี


ก่อนหน้านี้มีการตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย 'Delta Plus' ที่สหราชอาณาจักร, รัสเซีย และสหรัฐฯ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังมิได้ระบุว่า สายพันธุ์นี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ Delta เดิมหรือจะต่อต้านวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันหรือไม่


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน WHO ยังไม่ได้จัดให้ ไวรัสสายพันธุ์ 'Delta Plus' อยู่ในกลุ่ม "สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง" หรือ "สายพันธุ์ที่น่ากังวล" แต่อย่างใด

—————

เรื่อง: สันติ สร้างนอก

ภาพ: Yves Herman / Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง