รีเซต

กนอ.เฮลงทุนนิคมฯ 9 ด.ทะลุ 1.3 แสนลบ. โตพรวด 138%

กนอ.เฮลงทุนนิคมฯ 9 ด.ทะลุ 1.3 แสนลบ. โตพรวด 138%
มติชน
8 สิงหาคม 2564 ( 09:41 )
28
กนอ.เฮลงทุนนิคมฯ 9 ด.ทะลุ 1.3 แสนลบ. โตพรวด 138%

กนอ.เฮลงทุนนิคมฯ 9 ด.ทะลุ 1.3 แสนลบ. โตพรวด 138% เผยโควิดจำกัดเดินทางทำต่างชาติเลื่อนเข้าไทยกดยอดขายที่ดินร่วง 49%

 

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม2563-มิถุนายน2564) ภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม พบว่า มูลค่าการลงทุนรวมช่วง 9 เดือน คิดเป็นมูลค่า 130,289.44 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น  138.27% จากการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าเดิมในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามจากมาตรการจำกัดการเดินทางช่วงโควิด-19 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เลื่อนออกไปทำให้มียอดขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 927.09 ไร่ ประกอบด้วยยอดการขาย/เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 747.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 179.10 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49.59%

 

 

นายวีริศ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.77% อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 10.83% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.80% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่  7.01% และอุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์  6.05% โดยนักลงทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง 15.15% รองลงมาคือ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 12.12%  และสิงคโปร์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา 9.09%

 

 

“ปัจจุบันมีนักลงทุนแสดงความสนใจที่จะซื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์และคลัสินค้า เติบโตโดดเด่น เนื่องจากได้รับอานิสงค์เชิงบวกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดต่อเนื่อง ผนวกกับกระแสการย้ายการลงทุนออกจากประเทศจีนของกลุ่มนักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น และอเมริกามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และประเทศไทยยังมีศักยภาพและความแข็งแกร่งในการรองรับการลงทุนเพื่อเป็นฐานและศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค เชื่อว่าในช่วงปลายปี 2564 การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะดีขึ้น คาดว่าประเทศไทยจะควบคุมการระบาดระลอก 3 ได้ในระดับหนึ่ง สามารถสร้างระดับภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีนได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวขึ้นได้”นายวีริศ กล่าว

 

 

 

นายวีริศ กล่าวว่า การลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสมสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวน 178,891 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 37,724 ไร่ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 141,167 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่า 118,667 ไร่ /เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว 90,972 ไร่ จึงยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีก 27,695 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม 4.70 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 4,944 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 815,942 คน ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบันกว่า 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท และมีกลุ่มที่ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านซัพพลายเชน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีพื้นฐานของระบบซัพพลายเชนที่ดีในระดับหนึ่ง อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง