กนอ. เปิดเอกชนเสนอพื้นที่ตั้ง นิคมฯ ราชทัณฑ์ ใน 5 จังหวัด
กนอ. เปิดเอกชนเสนอพื้นที่ตั้ง นิคมฯ ราชทัณฑ์ ใน 5 จังหวัด เผย 9 พ.ค.เดินสายอยุธยาหวังคืนแรงงานผู้พักโทษกลับสู่ตลาดแรงงาน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
พื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ต้องมีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 500 ไร่ และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการประกอบกิจการ ต้องไม่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ไม่อยู่ในเขตหวงห้ามการตั้งโรงงาน หรือแหล่งน้ำ หรือเขตที่มีการประกาศเป็นแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติ และพื้นที่โครงการต้องมีพื้นที่ดินติดต่อกันเป็นผืนเดียว รวมถึงมีความเหมาะสมต่อการประกอบอุตสาหกรรม มีแหล่งน้ำใช้ แหล่งรองรับน้ำทิ้ง และมีสภาพที่เอื้อต่อการป้องกันปัญหามลพิษ ที่สำคัญต้องเป็นพื้นที่สีม่วงที่สามารถประกอบกิจการอุตสาหกรรมได้จากการพิจารณาของผังเมืองจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีเอกชนเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 1 ราย พื้นที่โครงการประมาณ 4,131 ไร่ ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามหลักเกณฑ์ของ กนอ.
ผู้ประกอบการที่สนใจร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก กนอ. อาทิ จัดให้มีบริการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม, การให้บริการอนุมัติ อนุญาต และกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม, การยกเว้นค่าใช้จ่ายร่วมดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมให้แก่ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เช่น ค่าธรรมเนียมและบริการร่วมดำเนินงาน และการจัดให้มีและให้บริการสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนควบคุม กำกับดูแล และประสานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของนิคมฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย
“กนอ.ได้เชิญชวนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่มีความสนใจรับแรงงานผู้ต้องขังพักโทษที่เข้าหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีพิเศษ ตามโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการคืนแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน สร้างอาชีพในอนาคต ลดจำนวนอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ กนอ.เตรียมเดินสายโรดโชว์ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ โดย กนอ.ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรมจะลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจุดแรกด้วย”นายวีริศ กล่าว
เบื้องต้น กนอ.ได้สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ/โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ ด้วยว่า มีความต้องการจำนวนแรงงานเท่าไหร่ และทักษะฝีมือรูปแบบใดที่ต้องการ เพื่อให้ตรงกับที่กรมราชทัณฑ์มี หรืออาจจะต้องเตรียมจำนวนแรงงานและทักษะฝีมือนั้นๆ เพิ่ม โดยมีนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง, นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1, นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง, นิคมอุตสาหกรรมเวลโกร์ และนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี ที่แจ้งความต้องการฝีมือแรงงานที่มีทักษะด้านแรงงานฝ่ายผลิต ช่างไฟฟ้า แม่บ้าน ช่างหล่อและเชื่อมโลหะ พนักงานขับรถยก เป็นต้น