รีเซต

กรมราชทัณฑ์ สร้างความเข้าใจกรณีการพักโทษ สถิติทุกปีปล่อยตัวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นราย

กรมราชทัณฑ์ สร้างความเข้าใจกรณีการพักโทษ สถิติทุกปีปล่อยตัวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นราย
TNN ช่อง16
27 กุมภาพันธ์ 2567 ( 15:51 )
31

กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่ข้อมูล สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพักโทษ พร้อมระบุสถิติทุก ๆ ปี ปล่อยตัวพักโทษไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นราย


กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ โดยระบุว่า การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพักการลงโทษในงานราชทัณฑ์


จากกระแสสังคมในปัจจุบันที่ตั้งคำถามต่าง ๆ นานาต่อการดำเนินงานด้านการพักการลงโทษ ของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้นกรมราชทัณฑ์จึงขอให้ข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารโทษในบริบทของงานราชทัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และมองเห็นภาพการทำงานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้


1) กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2561 ระบุให้กรมราชทัณฑ์ มีหน้าที่และอำนาจกําหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลตามหน้าที่ และอํานาจของกรมให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายของกระทรวง หลักอาชญาวิทยา และทัณฑวิทยา ตลอดจนข้อกําหนดมาตรฐานขั้นต่ำสําหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อเสนอแนะ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องขององค์การสหประชาชาติ


2) การพักการลงโทษ เป็นอำนาจ หน้าที่หนึ่งที่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักทัณฑปฏิบัติ ซึ่งดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการพักการลงโทษเป็นการบริหารโทษที่กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการตามที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 เป็นต้นมา 


ประเทศไทย ได้ศึกษามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ก็ยังคงระบุเรื่องการพักการลงโทษไว้เช่นเดิม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พึ่งจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน


3) ในการดำเนินการพิจารณาการพักการลงโทษ ตั้งแต่ขั้นตอนในชั้นเรือนจำและทัณฑสถาน ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ได้ระบุให้มีบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำ / ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนคุมประพฤติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าพนักงานเรือนจำซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำแต่งตั้ง 


เสนอผลการพิจารณาไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาเห็นชอบพักการลงโทษ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพักการลงโทษ และหัวหน้าฝ่ายพักการลงโทษ 


ดังจะเห็นว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการพักการลงโทษ โดยนำภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาทั้งในชั้นกลั่นกรองและวินิจฉัย เพื่อสร้างความโปร่งใสและคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก


จากสถิติในทุก ๆ ปี กรมราชทัณฑ์มีการปล่อยตัวพักการลงโทษไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นราย โดยในปี พ.ศ.2566 กรมราชทัณฑ์ ได้มีการปล่อยตัวพักการลงโทษกรณีปกติ จำนวน 10,552 คน พักโทษกรณีพิเศษ จำนวน 1,776 คน รวมทั้งสิ้น 12,328 คน



ข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

ภาพจาก AFP (แฟ้มภาพประกอบข่าว)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง