เปิดเกณฑ์ “พักโทษ” กรณีพิเศษ “ทักษิณ” และใคร? เข้าเงื่อนไข
กรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่า นายทักษิณมีคุณสมบัติได้ “พักโทษกรณีพิเศษ” เพราะเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณา โดยนายทักษิณต้องรับโทษมาแล้ว 6 เดือน คาดว่าจะได้รับการพิจารณาในเดือน ก.พ.นี้ ขณะที่ ข้อมูลเบื้องต้นจากเรือนจำทั่วประเทศ ในปีนี้มีนักโทษที่เข้าเกณฑ์ “พักโทษกรณีพิเศษ” เฉพาะอายุ 70 ปี ขึ้นไป ประมาณ 100 คน
หลังจากกรมราชทัณฑ์ชี้แจงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง อยู่ระหว่างการ “พักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ” เกินกว่า 120 วัน นับตั้งแต่เดินทางกลับมารับโทษ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ซึ่ง กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าเป็นไปตามเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เซ็นรับทราบและมีการตรวจสอบจากหลายหน่วยงานแล้ว ประเด็นต่อมา คือ “การพักโทษกรณีพิเศษ”
นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่า นายทักษิณมีคุณสมบัติได้พักโทษกรณีพิเศษ เพราะเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณา โดยนายทักษิณต้องรับโทษมาแล้ว 6 เดือน (นับเป็นวันนับจากเดินทางกลับมารับโทษ 22 ส.ค.66) และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะเป็นผู้เสนอชื่อมาทางกรมราชทัณฑ์ และมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาในการพักโทษ คาดว่าจะได้รับการพิจารณาในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนจะติดกำไล EM หรือไม่ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการ นอกจากนี้ นายทักษิณสามารถมีบทบาททางการเมือง ในระหว่างการพักโทษได้ หากไม่ฝ่าฝืนหรือไปทำอะไรที่ผิดระเบียบ
TNN Exclusive ได้พูดคุยกับนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในประเด็นเรื่อง “การพักโทษกรณีพิเศษ” ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 และระเบียบกระทรวง 2563 รวมทั้งระเบียบออกใหม่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566
ทำไมต้องมีการ “พักโทษกรณีพิเศษ”
การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ปัจจุบัน มี 3 โครงการ ได้แก่
-โครงการกำลังใจในพระดำริ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนิน ชีวิตนอกเรือนจำได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำซาก
-โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพนักโทษเด็ดขาด ที่ได้รับการพักการลงโทษให้ได้รับ การฝึกทักษะอาชีพ ในภาคอุตสาหกรรมและโอกาส ประกอบอาชีพที่มั่นคงรวมถึงให้โอกาสได้ แก้ไข ปรับปรุงตนเอง สามารถดำเนินชีวิต ร่วมกับสังคมอย่างปกติสุขภายหลังปล่อยตัว ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำซาก สังคมให้การ ยอมรับมากขึ้น
-โครงการเจ็บป่วยร้ายแรง หรือ พิการ หรือมีอายตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป ด้วยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและหลักเมตตาธรรมแก่ผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวให้ได้ออกไปใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่กับครอบครัวอย่างใกล้ชิด ได้รับการดูแลรักษา อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มนักโทษที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง หรือ ผู้ต้องขังที่พิการ หรือ ผู้ต้องขังที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป ซึ่ง โดยสภาพของร่างกายไม่เอื้อต่อการกระทำผิดซ้ำซากอีก
คุณสมบัติผู้ที่จะได้รับ “พักโทษกรณีพิเศษ”
1. เป็นนักโทษเด็ดขาด อายุ 70 ปีขึ้นไป และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย
2. โทษเหลือจําต่อไปไม่เกิน 10 ปี
3. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 52 (7) แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
4. เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป
5. ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกําหนดโทษ ตามหมายศาล ฉบับหลังสุดแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า หรือไม่น้อยกว่า 10 ปี ในกรณีโทษจําคุกตลอดชีวิต ที่มีการเปลี่ยนโทษจําคุกตลอดชีวิตเป็น โทษจําคุกมีกําหนดเวลา
6. ไม่มีโทษกักขัง หรือไม่ถูกคุมขัง ตามหมายขังในคดีอื่นๆ
7. มีผู้อุปการะและยินดีรับอุปการะ กรณีที่นักโทษเด็ดขาดไม่มีผู้อุปการะให้เรือนจํา ประสานไปยัง สํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือ สํานักงาน สาธารณสุขจังหวัด หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลให้การช่วยเหลือระหว่างคุมประพฤติ
เงื่อนไข “พักโทษกรณีพิเศษ”
-ห้ามมิให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนครบกําหนดโทษ และต้องปฏิบัติตนโดยเคร่งครัด
-ห้ามเข้าไปในเขตท้องที่ สถานที่ หรือตามเวลาที่กําหนด
-ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลที่อาจนําไปสู่การกระทําผิดอีก
-ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษทุกประเภท รวมทั ง อาวุธปืน เครื่องกระสุน หรือวัตถุระเบิดทุกชนิด
-ห้ามประพฤติตนในทางเสื่อมเสีย โดยการเสพสุรา หรือ เล่นการพนันที่อาจนําไปสู่ การกระทําผิดกฎหมายอีก
- ห้ามเยี่ยม หรือติดต่อกับผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง หรือผู้ต้องกักกันอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่ง ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจํา สถานกักขัง สถานกักกัน หรือสถานคุมขังอื่นใด
- ห้ามเดินทางออกนอกเขตท้องที่จังหวัด เว้นแต่มีธุระสําคัญเป็นครั้งคราว ให้ขออนุญาตพนักงานคุมประพฤติ หากจะย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนแปลงผู้อุปการะ ให้ยื่นคําร้องต่อพนักงานคุมประพฤติในท้องที่ เดิมและต้องได้รับอนุญาตก่อน
- รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ
- พักอาศัยอยู่กับผู้อุปการะตามสถานที่ที่แจ้ง เว้นแต่มีเหตุจําเป็น ให้ยื่นคําร้อง ต่อพนักงานคุมประพฤติใน ท้องที่เดิม และต้องได้รับอนุญาตก่อน
-ปฏิบัติตามคําแนะนํา และคําตักเตือนของพนักงานคุมประพฤติและ เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อการแก้ ไขฟื้นฟู ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมคุมประพฤติกําหนด
- ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ หากมีการฝ่าฝืนและถูกลงโทษโดยเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ และอํานาจตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับนั้นไม่ว่าจะเป็นโทษสถานใด นักโทษเด็ดขาดหรือผู้อุปการะนักโทษเด็ดขาด ต้องแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง
- ประกอบอาชีพสุจริต หากจะเปลี่ยนสถานที่ทํางานหรือย้ายงานใหม่ ต้องแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติ ทราบทุกครั้งเว้นแต่มีเหตุจําเป็น ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบภายในกําหนดระยะเวลาการ รายงานตัวครั งต่อไป
- เงื่อนไขอื่นตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยพักการลงโทษกําหนด
ขั้นตอนการขอ “พักโทษกรณีพิเศษ”
1. แจ้งคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดโครงการฯ ให้เรือนจํา/ทัณฑสถาน เพื่อ ดําเนินการคัดเลือก
2. เรือนจํา/ทัณฑสถานดําเนินการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการฯ พร้อมจัดส่งบัญชีรายชื่อนักโทษ เด็ดขาดที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะทํางานประจําเรือนจํา พร้อมรายงานการประชุมคณะกรรมการ
3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพักการลงโทษ ดําเนินการตรวจสอบเอกสาร ข้อมูลรายละเอียด ข้อเท็จจริง ที เรือนจํา หรือ ทัณฑสถานเ สนอบัญชีนักโทษเด็ดขาดที่ขอพักการลงโทษ และประมวลข้อเท็จจริง
4. จัดทําบัญชีรายชื่อนักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษพร้อมเสนอความเห็น และเหตุผล ประกอบการพิจารณา
5. เสนอผลการพิจารณาพักการลงโทษ ของคณะคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย พักการลงโทษในการประชุมพักการลงโทษ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณา อนุมัติพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ และ
แจ้งผลการพิจารณา ให้เรือนจํา/ทัณฑสถาน ดําเนินการปล่อยตัว พร้อมระบุเงื่อนไขที่ผู้ได้รับพักการลงโทษกรณีมี เหตุพิเศษต้องถือปฏิบัติ
ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้น ในปีนี้มีนักโทษที่เข้าเกณฑ์ “พักโทษกรณีพิเศษ” เฉพาะอายุ 70 ปี ขึ้นไป ในเรือนจําทั่วประเทศ ล่าสุด มีประมาณ 100 คน
ส่วน ความคืบหน้าของ “การคุมขังนอกเรือนจำ” ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 นั้น นายสิทธิ กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณา ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังในรายคดีใดที่จะได้รับการละเว้นจากระเบียบดังกล่าว จะต้องใช้การจำแนกและวิเคราะห์ ว่า คดีใดจะได้ประโยชน์ หรือ คดีใดต้องละเว้น ซึ่ง ต้องไปศึกษาให้รอบคอบเพื่อความรัดกุมที่สุด
สำหรับการคุมขังนอกเรือนจำ และ การพักโทษกรณีพิเศษ เป็นแนวทางหนึ่งในการปฎิรูปกรมราชทัณฑ์ ที่มีจุดประสงค์ลดจํานวนความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจํา เนื่องจากแต่ละปีปีมีจํานวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น ซึ่ง การบริหารโทษ ด้วยวิธีการต่างๆ ถือเป็นประโยชน์ที่ให้แก่ นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี เจ็บป่วย พิการ ชราภาพ และไม่มีโอกาสจะกระทําผิดซ้ำซากอีก ขณะเดียวกัน การที่นักโทษที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือ ในคดีสำคัญต่าง ทำให้กรมราชชทัณฑ์ถูกจับตาว่าปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ดังนั้น ในกรณีที่สังคมยังเคลือบแคลง จึงมีความจำเป็นที่กรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงให้เกิดความชัดเจน
เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต
ข้อมูลอ้างอิง : กรมราชทัณฑ์