รีเซต

อช.ทับลานเตรียมกักบริเวณ ‘ช้างป่าเกเร’ ไม่ยอมกลับเข้าป่า

อช.ทับลานเตรียมกักบริเวณ ‘ช้างป่าเกเร’ ไม่ยอมกลับเข้าป่า
TNN ช่อง16
21 พฤศจิกายน 2566 ( 13:41 )
36
อช.ทับลานเตรียมกักบริเวณ ‘ช้างป่าเกเร’ ไม่ยอมกลับเข้าป่า

วันนี้ (21พ.ย.66) นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า ปัญหาช้างป่าที่ออกจากเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อมาหากินและทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในตอนนี้ เกิดขึ้นแทบทุกภาคทั่วประเทศ  ถือเป็นปัญหาที่เกิดมานานแล้ว แต่ปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้สภาพป่าเปลี่ยนไป 


จากการรวบรวมข้อมูลในช่วง 3 ปีหลัง พบว่า พฤติกรรมของช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตอนนี้พยายามที่จะออกจากป่าเพื่อไปหากินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านแม้ว่าจะเป็นในช่วงหน้าฝน ทั้งนี้เนื่องจากสภาพป่าเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความอุดมสมบูรณ์เป็นป่าดิบมากขึ้น ทำให้พืชอาหารป่าของช้างลดลง ประกอบกับพื้นที่ใกล้กับแนวป่า มีการปลูกพืชที่ช้างจำนวนมากชื่นชอบ ทั้งอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น จึงเป็นสิ่งล่อใจและดึงดูช้างให้ออกมาจากป่า 


หน่วยงานภาครัฐเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้เป็นการเร่งด่วนและยั่งยืน โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้นโยบายแร่งด่วนโดยให้ทุกป่าอนุรักษ์จัดทำแผนเร่งด่วนในพื้นที่ดูแลของตนเอง ให้มีการวางแผนร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดการปัญหา เพื่อให้เดินหน้าไปในแนวทางเดียวกันตามแนวทาง 6 หลัก  ประกอบด้วย 

1.การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า 

2.แนวป้องกันช้างป่า 

3.ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน 

4.การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 

5.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน  

6.การควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด


 

โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่แหล่งอาหารที่ยังมีความจำเป็นเป็นอันดับต้นๆ   นอกจากนี้ แนวทางในการหาพื้นที่ที่กักบริเวณช้างป่าที่มีพฤติกรรมเกเร ไม่ยอมเข้าป่า และออกมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเป็นประจำ  เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะต้องเร่งสำรวจและดำเนินการเร่งด่วนภายใน 30 วัน


 

สำหรับช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่มีพฤติกรรมเกเร ดื้อรั้น ไม่ยอมกลับเข้าป่านั้น เบื้องต้นเริ่มตรวจสอบพบบ้างแล้ว โดยเฉพาะในฝั่งจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นช้างเดี่ยวตัวผู้หรือช้างโทนที่มีพฤติกรรมเป็นสเก๊าต์หน้า หรือเป็นชุดตรวจสอบหาแหล่งอาหาร ก่อนที่จะกลับไปตามโขลงมาร่วมหากิน ซึ่งกลุ่มนี้กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล และอาจจะต้องใช้การกักบริเวณเข้าช่วยจัดการปัญหาเป็นการเร่งด่วน


ข้อมูลจาก : ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา 

ภาพจาก ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง