รีเซต

กำจัดนิ่วในไตด้วย "ไฮโดรเจล" รวดเร็วปลอดภัย ไม่เหลือนิ่วตกค้าง

กำจัดนิ่วในไตด้วย "ไฮโดรเจล" รวดเร็วปลอดภัย ไม่เหลือนิ่วตกค้าง
TNN ช่อง16
6 เมษายน 2565 ( 10:18 )
209

ไฮโดรเจล (Hydrogel) พอลิเมอร์โครงสร้างตาข่ายที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บน้ำ แต่ยังคงความแข็งแรงและความยืดหยุ่นไว้ในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ไฮโดรเจลจึงถูกประยุกต์ใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ เช่น วัสดุปิดแผล, ระบบขนส่งยา หรือการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ เป็นต้น ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์นำไฮโดรเจลมาใช้กำจัดนิ่วขนาดเล็กในไตได้อีกด้วย

ที่มาของภาพ SWM

 



นิ่วในไต (Kidney stone) เกิดจากการสะสมของสารบางชนิด เช่น กรดยูริก, กรดออกซาลิก หรือแคลเซียม เป็นต้น เนื่องจากในปัสสาวะมีความเข้มข้นของสารเหล่านี้ในปริมาณสูง จึงมีการตกตะกอนจนเกิดเป็นก้อนนิ่ว ผู้ป่วยบางรายอาจตรวจพบโดยบังเอิญโดยไม่มีความผิดปกติใด ๆ แต่บางรายอาจเกิดอาการปวดจากนิ่วที่อุดตัน หรือปัสสาวะไม่ออกจนทำให้เกิดไตวายได้ในที่สุด


ที่มาของภาพ Wiki Commons

 



สำหรับการรักษาโรคนิ่วในไต หากนิ่วมีขนาดเล็กอาจรักษาด้วยยาละลายนิ่วได้ แต่ในกรณีที่นิ่วมีขนาดใหญ่ไม่สามารถสลายได้ด้วยยาและไม่สามารถเคลื่อนผ่านออกมาผ่านท่อไตได้ จำเป็นต้องสลายก้อนนิ่วขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กมากพอเพื่อให้นิ่วสามารถผ่านจากท่อไตมาสู่ท่อปัสสาวะ 


ซึ่งการสลายนิ่วขนาดใหญ่นิยมใช้กระบวน Lithotripsy อาจใช้เป็นคลื่นกระแทก (Shock wave) หรือสายสวนร่วมกับเลเซอร์ หลังจากสลายนิ่วจนเหลือขนาดเล็กแล้ว นิ่วบางส่วนจะถูกกำจัดออกในขณะเดียวกับการทำกระบวนการ Lithotripsy แต่บ่อยครั้งที่ยังคงมีก้อนนิ่วขนาดเล็กหลงเหลืออยู่ และรอเวลาให้นิ่วขนาดเล็กเหล่านี้ระบายออกมาพร้อมปัสสาวะ

ที่มาของภาพ UCI Urology

 



อย่างไรก็ตาม นิ่วขนาดเล็กที่ผ่านออกมาพร้อมปัสสาวะนั้น อาจจะเคลื่อนผ่านท่อปัสสาวะได้ยากลำบาก จึงมักก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยได้ในระยะหนึ่ง นอกจากนี้ นิ่วที่ยังคงหลงเหลืออยู่อาจเกิดการสะสมใหม่อีกครั้งจนเกิดเป็นนิ่วขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งได้ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จากบริษัทสตาร์ตอัป Purenum จึงได้พัฒนาวิธีการกำจัดนิ่วขนาดเล็กที่ยังหลงเหลือในไตด้วย "ไฮโดรเจล"





กระบวนการกำจัดนิ่วขนาดเล็กด้วยไฮโดรเจลนี้ นักวิทยาศาสตร์จะใส่สายสวนผ่านเข้าไปภายในทางเดินปัสสาวะขึ้นไปถึงท่อไต จากนั้นจึงฉีดของเหลวตั้งต้นเข้าไปเพื่อให้ครอบคลุมก้อนนิ่ว จากนั้นจึงฉีดสารตัวเร่งตามเข้าไปเพื่อให้ของเหลวก่อตัวเป็นไฮโดรเจลพร้อมโอบล้อมก้อนนิ่วทั้งหมดเอาไว้ ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะค่อย ๆ ดึงไฮโดรเจลออกมาพร้อมก้อนนิ่ว ด้วยกระบวนการนี้จึงสามารถกำจัดนิ่วที่ยังตกค้างในไตได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถละลายไฮโดรเจลเพื่อนำก้อนนิ่วมาวิเคราะห์หาสาเหตุได้อีกด้วย



ที่มาของภาพ Purenum

 



กระบวนการนี้ผ่านการทดลองทางคลินิกเป็นที่เรียบร้อย นั่นหมายถึงความสำเร็จในการนำมาใช้กำจัดนิ่วขนาดเล็กในมนุษย์ได้ ซึ่งในลำดับถัดไปทางบริษัทคาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยเชิงพาณิชย์ได้ภายใต้ชื่อการค้า mediNiK-basic โดยพร้อมเปิดตัวภายในไตรมาสที่ 2 ปีนี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง