ทรัมป์เตรียมผลักดันพลังงานนิวเคลียร์ รองรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และศูนย์ข้อมูลในสหรัฐฯ

วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานแหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เตรียมลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารภายในวันศุกร์นี้
เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายผ่อนคลายข้อกำกับดูแลเกี่ยวกับการอนุมัติเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ เสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิง และเร่งการลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โดยคำสั่งดังกล่าวจะอ้างอิงพระราชบัญญัติการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศยุคสงครามเย็น เพื่อประกาศ "สถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน" โดยชี้ว่าการพึ่งพารัสเซียและจีนในด้านยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ และการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
พลังงานนิวเคลียร์เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ AI และศูนย์ข้อมูล
คริส ไรท์ รัฐมนตรีพลังงาน ระบุว่า การแข่งขันด้านพลังงานเพื่อรองรับการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และศูนย์ข้อมูลในสหรัฐฯ ถือเป็น “โครงการแมนฮัตตัน 2” ซึ่งสะท้อนความเร่งด่วนและขนาดของภารกิจนี้
คาดว่าจะมีการออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งอนุมัติและจัดหาสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ รวมถึงมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกลาโหมจัดพื้นที่ของรัฐบาลกลางสำหรับติดตั้งโรงงานดังกล่าว พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการให้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สหรัฐฯ ผู้นำด้านพลังงานนิวเคลียร์
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำด้านพลังงานนิวเคลียร์มาอย่างยาวนาน กำลังเผชิญการแข่งขันจากจีนที่มีอัตราการเติบโตในภาคส่วนนี้รวดเร็วกว่า
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันพลังงานนิวเคลียร์ (NEI) และบริษัท Constellation ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเครื่องปฏิกรณ์รายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีลงนามในวันศุกร์ช่วงบ่าย แต่ทั้งสององค์กรยังไม่ตอบรับการขอให้แสดงความคิดเห็น
รายงานยังระบุว่า ฝ่ายบริหารของทรัมป์กำลังพิจารณาร่างคำสั่งฝ่ายบริหารอีก 4 ฉบับที่มุ่งสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ โดยรวมถึงการเพิ่มอำนาจรัฐบาลกลางในการอนุมัติโครงการ และการปฏิรูปคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ ซึ่งมีสมาชิก 5 คนทำหน้าที่อนุมัติโครงการต่าง ๆ
พลังงานนิวเคลียร์ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคการเมืองในสหรัฐฯ โดยพรรคเดโมแครตเห็นว่าพลังงานนี้ปล่อยคาร์บอนต่ำ ส่วนพรรครีพับลิกันยกให้เป็นแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพสูงกว่าพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์ แม้ว่าจะยังมีปัญหาด้านการจัดการกากกัมมันตรังสี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแหล่งเก็บถาวรในประเทศ