ทำไมยุโรปถึงโล่งใจที่เอ็มมานูเอล มาครง ชนะการเลือกตั้ง?
เอ็มมานูเอล มาครง ชนะนางเลอ เปน ด้วยคะแนน 58.55% ต่อ 41.45% เป็นคะแนนชนะที่นายมาครงได้น้อยลงจากการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีก่อน กับนางเลอ เปน
ขณะที่ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำกว่า 72% น้อยที่สุดสำหรับการเลือกตั้งรอบชิง นับตั้งแต่ปี 1969 และมีผู้งดออกเสียงมากถึง 28%
มาครง ซึ่งเป็นผู้สมัครสายกลาง เลือกกล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะที่ Champs de Mars หน้าหอไอเฟล โดยเขากล่าวว่า แม้การเลือกตั้งจะจบไปแล้ว แต่เขาจะเป็นประธานาธิบดีสำหรับทุกคน
มาครง กล่าวด้วยว่า ต้องมีการหาคำตอบว่าทำไมเพื่อนร่วมชาติจึงโกรธเคืองและไม่เห็นด้วยจนนำไปสู่การลงคะแนนให้ฝ่ายขวาจัด และนั่นก็เป็นความรับผิดชอบของเขาที่ต้องหาคำตอบ รวมทั้งมีบัตรเปล่าหรือบัตรเสียมากกว่าสามล้านบัตร ทำให้นายมาครงกล่าวว่า รัฐบาลของเขาต้องหาคำตอบเช่นกันว่า ทำไมผู้คนปฏิเสธที่จะเลือกใคร
นาง เลอ เปนกล่าวว่า แม้เธอพ่ายแพ้ ก็ถือว่าเป็นชัยชนะ เพราะแนวคิดที่พรรคของเธอนำเสนอนั้น ได้รับการตอบสนองที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเธอจะไม่มีวันทอดทิ้งชาวฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ชัยชนะของนายมาครงถือเป็นประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะเขาคือประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งคนแรกในรอบ 20 ปีที่ชนะการเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งต่อในสมัยที่สอง
ชัยชนะของมาครงนั้นนำไปสู่การโล่งใจของบรรดาผู้นำยุโรปที่กังวลว่า นางเลอ เปน ที่มีนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรป จะชนะการเลือกตั้ง
เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า ฝรั่งเศสและยุโรปจะเดินหน้าไปด้วยกัน
ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสเลือกนายมาครง ได้แสดงความยินต่อนายมาครงแล้ว และระบุว่า นายมาครงคือเพื่อนแท้ เขาแสวงหาการทำให้ยุโรปเป็นเอกภาพและเข้มแข็งขึ้น
ผู้นำชาติตะวันยุโรปคนอื่น ๆ ตลอดจนทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ก็ได้แสดงความยินดีต่อชัยชนะของนายมาครงแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจับตานโยบายปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจของนางเลอ เปนมามานานแล้ว หลังอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เมื่อปี 2016
ฝรั่งเศสคือสมาชิกก่อตั้งอียู และผลักดันการบูรณาการของยุโรปมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งหากนางเลอ เปน ผู้คลางแคลงใจในอียู ชนะการเลือกตั้ง จะส่งผลต่อความมั่นคงของอียู
ชัยชนะของนายมาครง ทำให้คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเยอรมนีกล่าวว่า ยุโรปคือผู้ชนะรายใหญ่สุด ขณะที่นายกรัฐมนตรีมารีโอ ดราดกีของอิตาลีกล่าวว่า การได้กลับมาของนายมาครงคือข่าวที่วิเศษสุดของทั้งยุโรป
ขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการกิจการยุโรปของรัฐสภาเยอรมนีกล่าวว่า ยุโรปต้องรีบฉวยโอกาสที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีมีรัฐบาลโปรยุโรปไปอีกอย่างน้อยสี่ปีข้างหน้านี้ได้แล้ว
สำนักข่าว BBC รายงานว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิที่น้อยลงกว่าเดิม สะท้อนถึงคำพร่ำบ่นของบรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ว่า ผู้สมัครรอบชิงทั้งสองคน ไม่มีใครโดนใจ นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ยังระบุว่า พวกเขาไม่ไปใช้สิทธิรอบสองด้วย
ชัยชนะครั้งนี้ ยังไม่สามารถทำให้นายมาครงนิ่งนอนใจได้ เพราะในเดือนมิถุนายน ฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ที่ตอนนี้พรรคของนายมาครงครองเสียงข้างมากในสภาอยู่ แต่บรรดาผู้สมัครประธานาธิบดีราย ๆ อื่น ที่ได้คะแนนจ่อติดเขาในการเลือกตั้งรอบแรก ได้เริ่มการหาเสียงไปแล้ว เพื่อให้ได้ส.ส.ในสภาสังกัดพรรคของตนเองให้ได้มากที่สุด
นายฌ็อง ลุค เมล็องชง ซึ่งเป็นเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายจัดและได้รับคะแนนเลือกตั้งรอบแรกเข้ามาเป็นอันดับสาม ได้ประกาศชัดว่าจะเอาชนะพรรคของนายมาครงและเขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ ส่วนนางเลอ เปน ประกาศเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า การแข่งขันนั้นยังไม่จบ
สำนักข่าว BBC วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนว่า ชาวฝรั่งเศสหันไปหาขั้วการเมืองสุดโต่งมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากชัยชนะของนายมาครงเอง ทำให้พวกเขาไม่มีตัวเลือกอื่นที่จะพึ่งพิงหากต้องการต่อต้านนายมาครง
ชาวฝรั่งเศสหลายล้านคนลงคะแนนให้นาย เมล็องชง ซึ่งหวังจะคว้าชัยในการเลือกตั้ง ส.ส.แทน แต่หากไม่ประสบผลสำเร็จ กลุ่มฝ่ายซ้ายก็พร้อมเคลื่อนไหวรอบสาม ด้วยการจัดการชุมนุมต่อการแผนการปฏิรูปของนายมาครง
นายมาครง ให้คำมั่นว่าจะเริ่มรัฐบาลสมัยสองแบบใหม่ จะรับฟังมากขึ้น แต่ปัญหาคือ เขาเคยกล่าวเช่นนี้มาก่อนแล้ว และผู้คนจำนวนมากไม่เชื่อเขาแล้ว
นักวิเคราะห์กล่าวกับ BBC ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่า มีการต่อต้านจากคนฝรั่งเศสสองฝั่ง แต่ยังมีคนจำนวนที่เพิ่มขึ้นด้วยที่มองว่า ฝ่ายต่อต้านนั้นไม่ชอบธรรม ในอดีตที่ผ่าน ๆ มา การเลือกตั้งของฝรั่งเศส จะจบลงด้วยการที่ผู้คนยอมรับชัยชนะของผู้ที่ได้คะแนนมากสุด ว่านี่คือประธานาธิบดีของทุกคน แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นสำหรับครั้งนี้แล้ว
—————
ติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด
https://bit.ly/TNNRussiaInvasion
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Ludovic MARIN / AFP