สธ.แจง 20 รายแพ้วัคซีนโควิด บุคลากรแพทย์อาการรุนแรง มีประวัติแพ้ยาเพนิซิลลิน
วันนี้ (3 มี.ค.64) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรางสาธารณสุข สรุปสถานการณ์การให้บริการวัคซีนโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 2 มีนาคม 2564 เวลา 18.00 น. ซึ่งมีผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 7,262 คน
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้เริ่มรับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม ประกอบด้วย
1.บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข รวม อสม. 6,784 คน
2.เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 365 คน
3.บุคคลที่มีโรคประจำตัว 22 คน
4.ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง (จ.สมุทรสาคร , ปทุมธานี) 91 คน
นพ.โอภาส ระบุว่า เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีการใช้มาก่อน ฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมากๆ ซึ่งจะมีระบบการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง กับ ผู้ที่มีอาการรุนแรง โดยในระบบรายงานพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน 20 ราย
- อาการไม่รุนแรง 19 ราย เช่น มีอาการอักเสบบริเวณที่ฉีด 1 ราย , มีอาการเหนื่อย 12 ราย , มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว 4 ราย และมีอาการคลื่นไส้ 2 ราย
- อาการรุนแรง 1 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพศหญิงอายุ 28 ปี จ.สมุทรสาคร พบความดันโลหิตต่ำ (90/50 mmHg) เคยมีประวัติแพ้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) มาก่อน ซึ่งหลังเข้ารับวัคซีนโควิด 30 นาทีแรกยังปกติ ก่อนที่ 4-5 ชม. ต่อมาก็พบมีอาการดังกล่าว ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลรักษา ซึ่งหลังได้รับการรักษาด้วยยาฉีด Adrenaline แล้ว พบว่าอาการดีขึ้นและปลอดภัยแล้ว
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลหลังพบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 และอยู่ในขั้นพิจารณาอย่างเร่งด่วนซึ่งผลการประชุมจะออกมาภายในสัปดาห์นี้เพื่อให้ข้อมูลต่อพี่น้องประชาชนได้รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ดี หากผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีอาการไม่พึงประสงค์หรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศรีษะรุนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ปากเบี้ยวกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชักหรือหมดสติ ให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทรแจ้งให้รถพยาบาลไปรับที่บ้านได้ทันที
"ขณะนี้เราเริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่ก็อาจจะมีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน และครั้งนี้เป็นวัคซีนใหม่ ที่จะต้องเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เดือนก.พ.มีเข้ามา 2 แสนโดส เดือนมี.ค.จะเข้ามาอีก 8 แสนโดส ขณะนี้ยังไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปจองวัคซีนหรือมาขอรับการฉีดเอง แต่จะฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์ อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และผู้มีโรคประจำตัวก่อน ดังนั้นในแต่ละรพ.ที่ได้รับมอบหมายให้ฉีดวัคซีนจะมีรายชื่อผู้ได้รับวัคซีนอยู่แล้ว และจะทำการติดต่อนัดหมายไปโดยตรงให้มารับวัคซีน" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
สำหรับข้อมูลล่าสุดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-2 มี.ค.64 มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้ว 7,262 ราย ใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข และอสม. 6,784 ราย, เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 365 ราย, บุคคลที่มีโรคประจำตัว 22 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง (สมุทรสาคร,ปทุมธานี) 91 ราย
ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยถึงบทบาทของ อสม.ในการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ว่า อสม.ทั่วประเทศมีหน้าที่สำคัญในการช่วยให้ความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนในชุมชน รวมถึงการสำรวจ และคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีน และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะต้องเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนแอปพลิเคชั่น "หมอพร้อม" เพื่อติดตามและอาการข้างเคียงภายหลังได้รับวัคซีน รวมทั้งการติดตามให้ประชาชนเข้ามารับการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 2 ต่อเนื่องจากเข็มแรกด้วย
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับ อสม.ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องได้รับวัคซีนในลำดับแรกเช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนั้น เบื้องต้นได้มีการฉีดวัคซีนล็อตแรกให้กับ อสม. ไปแล้ว 117 คน จากเป้าหมาย 6,538 คน ใน 13 จังหวัด และยังไม่พบรายงานว่ามีผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการได้รับวัคซีน