รีเซต

จีนผุดสถานีเก็บข้อมูลดาวเทียมภาคพื้นดินในขั้วโลกใต้

จีนผุดสถานีเก็บข้อมูลดาวเทียมภาคพื้นดินในขั้วโลกใต้
TNN ช่อง16
9 กุมภาพันธ์ 2566 ( 10:48 )
33
จีนผุดสถานีเก็บข้อมูลดาวเทียมภาคพื้นดินในขั้วโลกใต้

หนังสือพิมพ์ไชนา สเปซ นิวส์ (China Space News) ของทางการจีน ได้รายงานว่า บริษัทวิทยาศาสตร์อวกาศและอุตสาหกรรม (CASIC) บริษัทร่วมทุนก่อสร้างที่เป็นของรัฐบาลจีน ประมูลชนะโครงการก่อสร้างครั้งนี้ และกำลังดำเนินการตามแผนที่ตั้งเป้าไว้อย่างรวดเร็ว


โดยโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลระยะยาวของจีน อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานดาวเทียมพื้นสมุทร (National Satellite Ocean Application Service - NSOAS) ของจีน ซึ่งอนุมัติงบประมาณโครงการในมูลค่า 43.95 ล้านหยวน หรือ 218,576,480 ล้านบาท 


มีรายงานว่า สถานีปฏิบัติการวิจัยดังกล่าว มีรูปทรงการออกแบบเบื้องต้นเป็นเสาอากาศครอบด้วยโดมสี่เสาตั้งอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกาตะวันออก  บริเวณขั้วโลกใต้  ซึ่งไม่แน่ชัดว่าถูกสร้างขึ้นมาใหม่หรือเป็นเสาอากาศที่ติดตั้งไว้ที่ฐานอยู่แล้วหรือไม่ โดยเสาอากาศเหล่านี้ จะช่วยดึงข้อมูลจากดาวเทียมจีนที่โคจรรอบ ๆ หรือใกล้ขั้วโลกใต้ โดยดาวเทียมในวงโคจรเหล่านี้ จะเคลื่อนตัวผ่านบริเวณใกล้กับขั้วโลกใต้หลายครั้งต่อวัน ทำให้การตั้งสถานีในขั้วโลกใต้มีโอกาสในการดึงข้อมูลได้ง่ายกว่าสถานีที่มีละติจูดต่ำกว่า


ที่มาของรูปภาพ PRIC


ทั้งนี้ จีนส่งดาวเทียมสำรวจมหาสมุทรในรุ่นไห่หยาง (Haiyang) จำนวน 8 ดวง เข้าสู่วงโคจรแบบตามรัศมีโคจรของดวงอาทิตย์ตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปี 2021 และมีแผนจะปล่อยดาวเทียมเพิ่มเติมในปีต่อ ๆ ไป ทั้งยังมีกำหนดเปิดตัวดาวเทียมรุ่นใหม่ ไห่หยาง-3 ดวงแรก ในปีนี้อีกด้วย 


อัตราการปล่อยจรวดของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนสถานีภาคพื้นดินเพิ่มขึ้น โดยในปี 2015 จีนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร 19 ครั้ง แต่ปี 2021 จีนปล่อยจรวด 64 ครั้ง ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรมากกว่า 180 ดวง โดยในปีนี้เพียงปีเดียว จีนมีแผนปล่อยจรวดกว่า 60 ครั้ง พร้อมกับดาวเทียมกว่า 200 ดวง


ที่มาของรูปภาพ CASC


ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศระบุว่าสถานีภาคพื้นดินของจีนที่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมากในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างในอเมริกาใต้ ทำให้เกิดความกังวลในรัฐชาติต่าง ๆ  ซึ่งเครือข่ายดาวเทียมเหล่านี้ แม้จะถูกใช้งานโดยบริษัทเอกชนอย่างชัดเจน แต่ก็สามารถใช้สอดแนม เฝ้าติดตาม และอาจกำหนดเป้าหมายไปยังยานอวกาศของสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ  ได้


สถานีภาคพื้นดินเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นในการใช้งานยานต่าง ๆ ในอวกาศ โดยสถานีเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งถ่ายข้อมูลและคำสั่ง ซึ่งหมายความว่าสถานีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของการแข่งขันการยึดครองอำนาจในอวกาศ


ที่มาของข้อมูล sciencepoles.org

ที่มาของรูปภาพ Xinhuanet


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง