รีเซต

รู้จักโครงการส่งผลงานศิลปะ หนังสือ และภาพยนตร์ 30,000 ชิ้น ไปเก็บบนดวงจันทร์

รู้จักโครงการส่งผลงานศิลปะ หนังสือ และภาพยนตร์ 30,000 ชิ้น ไปเก็บบนดวงจันทร์
TNN ช่อง16
3 สิงหาคม 2566 ( 01:29 )
60
รู้จักโครงการส่งผลงานศิลปะ หนังสือ และภาพยนตร์ 30,000 ชิ้น ไปเก็บบนดวงจันทร์

ดวงจันทร์ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการสำรวจและสถานที่ปลอดภัยสำหรับการบันทึกประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ล่าสุดนักฟิสิกส์และนักประพันธ์ซามูเอล เปรัลต้า (Samuel Peralta) ชาวแคนาดา ได้ริเริ่มโครงการลูนาร์ โค้ดเอกซ์ (Lunar Codex) การจัดเก็บข้อมูลผลงานศิลปะ หนังสือ และภาพยนตร์ จำนวนมากกว่า 30,000 รายการ โดยรวบรวมจาก 157 ประเทศ ลงในคอลเลกชันแคปซูลทั้งหมด 4 ชุด ที่ได้รับการปกป้องเป็นพิเศษเพื่อส่งไปเก็บรักษาไว้บนดวงจันทร์


คอลเลกชันแคปซูลแรกมีชื่อว่า Orion Collection ถูกส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์และเดินทางกลับโลกพร้อมกับยานโอไรออน (Orion) ในภารกิจ Artemis 1 ช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา


คอลเลกชันแคปซูลที่สองมีชื่อว่า Novo Collection ถูกส่งไปเก็บบนดวงจันทร์พร้อมกับยานลงจอดในภารกิจ CLPS-2 ซึ่งจะถูกส่งไปดวงจันทร์ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2023 ยานอวกาศจะลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์


คอลเลกชันแคปซูลที่สามมีชื่อว่า Peregrin Collection ถูกส่งไปดวงจันทร์พร้อมกับยานลงจอดในภารกิจ Peregrine Mission 1 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2023 โดยใช้ยานสำรวจ Peregrine  


และคอลเลกชันแคปซูลชิ้นสุดท้ายมีชื่อว่า Polaris Collection ถูกส่งไปดวงจันทร์พร้อมกับยานลงในภารกิจ Griffin Mission 1 ในเดือนพฤศจิกายน 2024 บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยยานสำรวจ Griffine Lander และรถหุ่นยนต์สำรวจ Viper Rover 


โครงการลูนาร์ โค้ดเอกซ์ (Lunar Codex) ใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูล 2 รูปแบบ รูปแบบแรกมีลักษณะเป็นแผ่นดิสก์ฟอยล์ที่เรียกว่าเทคโนโลยีนิกเกิลนาโนฟิช (NanoFiche) การจัดเก็บข้อมูลวิธีการนี้มีจุดเด่นที่สามารถเก็บข้อมูลจำนวนมากในแผ่นฟิล์มไมโครโฟโต้ที่ถูกปกป้องไว้เป็นพิเศษจากอุณหภูมิสุดขั้ว ความร้อนสูงสลับกับหนาวเย็นบนดวงจันทร์ ข้อมูลที่ถูกบันทึกมีความละเอียด 20,000 จุดต่อตารางนิ้ว มนุษย์ที่เดินทางไปดวงจันทร์ในอนาคตสามารถเปิดดูข้อมูลและศึกษาข้อมูลเหล่านั้นได้โดยการขยายข้อมูลภาพ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้บนดวงจันทร์เป็นเวลาหลายแสนปีหรืออาจนานกว่านั้นก็เป็นไปได้


ส่วนอีกรูปแบบใช้วิธีการเก็บข้อมูลเป็นไฟล์ดิจิทัลบนการ์ดหน่วยความจำขนาดเล็ก ซึ่งถูกติดตั้งเกราะป้องกันรังสีและอุณหภูมิมีลักษณะใกล้เคียงกับการ์ดหน่วยความจำที่ใช้ในยานอวกาศโอไรออน (Orion) ของนาซา ในภารกิจ Artemis 1 การเก็บไฟล์ดิจิทัล มีจุดเด่นตรงที่สามารถเก็บข้อมูลได้มหาศาลโดยใช้ชิ้นส่วนขนาดเล็ก แต่อาจมีกระบวนการในการเปิดดูข้อมูลที่ซับซ้อนมากกว่า


ความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดทีมงานนักวิทยาศาสตร์ในโครงการลูนาร์ โค้ดเอกซ์ (Lunar Codex) จึงได้ติดตั้งระบบสำรองโดยการสำเนาไฟล์ข้อมูลเอาไว้หลายชุดเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นโดยคอลเลกชันแคปซูลแต่ละชุดจะถูกจัดเก็บไว้ใน MoonBox ที่ถูกเชื่อมต่อเข้ากับยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ โดยไม่รบกวนการทำภารกิจอื่น ๆ ของยานอวกาศ



ที่มาของข้อมูล Designboom, Nasa 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง