รีเซต

sacit ประกาศศักดางานหัตถศิลป์ไทย สร้างแบรนดิ้งลุยตลาดต่างประเทศ

sacit ประกาศศักดางานหัตถศิลป์ไทย สร้างแบรนดิ้งลุยตลาดต่างประเทศ
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2566 ( 18:18 )
97
sacit ประกาศศักดางานหัตถศิลป์ไทย สร้างแบรนดิ้งลุยตลาดต่างประเทศ

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)  ประกาศศักดางานหัตถศิลป์ไทยในแดนปลาดิบ สร้างแบรนดิ้ง ดันคราฟต์ไทยลุยตลาดต่างประเทศ ในงาน LIFESTYLE Week TOKYO 2023

 

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit โชว์ศักยภาพงานศิลปหัตถกรรมไทย ในงาน LIFESTYLE Week TOKYO 2023 ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2566 ณ Tokyo Big Sight ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างแบรนดิ้งภาพลักษณ์คุณค่าภูมิปัญญาหัตถศิลป์ไทย สร้างมูลค่าเพิ่มคราฟต์ไทย ขยายตัวสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน พร้อมดึง “เลดี้ปราง” ร่วมสร้าง Soft Power ผ้าไทย อวดสายตาชาวโลกตามจุดแลนด์มาร์กสำคัญของญี่ปุ่น



นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit กล่าวว่า sacit มีบทบาทสำคัญในการสืบสาน ส่งเสริมคุณค่า ยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้ง sacit มีนโยบายผลักดัน Soft Power เพื่อขับเคลื่อน "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" สู่ระดับโลก โดยอาศัยจุดแข็งของทุนทางวัฒนธรรมของไทย ที่สามารถจับต้องได้อย่างศิลปหัตถกรรม สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้ศิลปหัตถกรรมไทยมีความแตกต่าง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทย 


ซึ่งที่ผ่านมา sacit ได้ผลักดันผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่เป็น ให้เป็นที่รู้จักมาโดยตลอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เกิดการบริโภคงานหัตถกรรมไทยอย่างแพร่หลาย ในปีนี้ sacit ได้เดินหน้าผลักดันผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยการอวดโฉมหัตถกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น โดยได้นำงานศิลปหัตถกรรมไทยหลากหลายแขนงทั่วประเทศไทย ทั้งแบบดั้งเดิมที่คงอัตลักษณ์และสะท้อมภูมิปัญญาความเป็นไทย และทั้งที่มีความร่วมสมัย โดดเด่นในด้านดีไซน์ มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ 



อาทิ คร่ำทอง-ถมทอง , ลงรักประดับมุก , เครื่องเคลือบศิลาดล , กระเป๋าย่านลิเภา , เครื่องจักสาน , เครื่องเบญจรงค์ 12 นักษัตร , ผ้าฝ้ายออร์แกนิกและผ้าไหมย้อมสีจากธรรมชาติ , โคมไฟจากไม้กระถินณรงค์ , ชุดกิโมโนบาติกไหมไทยและโอบิที่เป็นการผสมผสาน 2 วัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่นได้อย่างลงตัวและสวยงาม ไปโชว์ยังประเทศญี่ปุ่น ในงาน LIFESTYLE Week TOKYO 2023 ระว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ชั้นนำประเภทของขวัญ เครื่องใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์แฟชั่น รวมถึงงานคราฟต์ ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น มีผู้สนใจเข้าชมงานนับหมื่นคนต่อปี นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างแบรนดิ้งส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีนานาชาติ



นายภาวี ยังกล่าวต่อว่า ได้เชิญตัวแทนผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย โดยคัดเลือกจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิกของ sacit ที่สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ทักษะเชิงช่างชั้นสูง ทรงคุณค่า มีการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาเทคนิควิธีการใหม่ ๆ และที่สำคัญคือ เป็นผู้ที่มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพด้านงานหัตถกรรมของตนอยู่ตลอด เพื่อไปศึกษาเทรนด์ความต้องการของคนญี่ปุ่น และเปิดโอกาสในการขยายฐานตลาดงานศิลปหัตถกรรมไทยในญี่ปุ่น รวมทั้งสร้างเครือข่ายคนรักงานศิลปหัตถกรรมไทยระหว่างผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมของไทยกับต่างชาติ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะเชิงช่างระหว่างกัน ตลอดจนการสร้างภาคีเครือข่ายด้านงานศิลปหัตถกรรม เชื่อมโยงองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เกิดการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพ ผสมผสานกับจินตนาการอันกว้างไกลของคนไทย 



นอกจากนี้ sacit ยังดึง Key Opinion Leader ชื่อดังอย่าง “เลดี้ปราง” หรือคุณกัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล ดารานักแสดงชื่อดัง ในฐานะ Friend of sacit ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะสร้าง Soft Power ผ้าไทยและงานศิลปหัตถกรรมไทยของสมาชิกในมุมมองใหม่ เป็นกระบอกเสียงประกาศความงดงาม ความคิดสร้างสรรค์ของงานศิลปหัตถกรรมไทย และความภาคภูมิใจในงานศิลปหัตถกรรมไทยทำให้เกิดการรับรู้ไปในสังคมไทยและประชาคมโลก มาทำกิจกรรมสร้างสีสันและดึงดูดความสนใจตามแลนด์มาร์กสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของญี่ปุ่น ผ่านการถ่ายแฟชั่นผ้าไทยร่วมสมัย ดีไซน์สวยเก๋ สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน 


โดยเฉพาะกางเกงมวยผ้าไทย จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมากการร่วมงาน LIFESTYLE Week TOKYO 2023 ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นการประกาศศักดาให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมด้านงานศิลปหัตถกรรม ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่มีเสน่ห์อันน่าประทับใจ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยเกิดแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาต่อยอด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโต สร้างมูลค่าเพิ่มและผลักดัน Soft Power ไทยให้ขับเคลื่อน "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ไปสู่ระดับสากลได้อย่างยั่งยืนต่อไป




ข้อมูลจาก สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit 

ภาพจาก สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง