40 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ชิงชัย "ผ้าไทยใส่ให้สนุก"
ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ การประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ ประจำปี 2567 "New Gen Young Designer 2024" รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ เวทีในการเฟ้นหาดีไซเนอร์หน้าใหม่จากทั่วประเทศ ให้ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นจากผืนผ้าไทยอันทรงคุณค่า ให้สามารถสวมใส่ได้อย่างสนุก สำหรับ ทุกเพศ ทุกวัย ในทุกโอกาสของชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ กระทรวงมหาดไทย โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขับเคลื่อนในการพัฒนายกระดับคุณภาพ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2567 ณ สุราลัยฮอล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานในพิธี และนางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกล่าวเปิดงานแสดงแบบ "ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก" และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด พร้อมด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัดเย็บ นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE คุณอารยา อินทรา ที่ปรึกษาด้านแฟชั่น อาจารย์พิเศษด้านแฟชั่น และสไตลิสต์
คณะกรรมการการตัดสินการประกวดฯ ระดับประเทศ ได้แก่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความรู้และการศึกษา นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดี ฝ่ายวิชาการและรักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH และนายธนาวุฒิ ธนสารวิมล นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ TANDT ร่วมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และอุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ตลอดจนดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากทั่วประเทศ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ ระดับประเทศ (รอบ Final) เพื่อตัดสินผลงานการออกแบบตัดเย็บชุดผ้าไทยของผู้เข้าประกวด จำนวน 40 ราย/ทีม ให้เหลือผู้ชนะ จำนวน 9 ราย/ทีม โดยพิจารณาจาก 1) แนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบสอดคล้องกับแนวคิด "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" 2) รูปแบบและความสวยงามของชุดที่ตัดเย็บ 3) ความประณีต และคุณภาพของชุด และ 4) การนำเสนอผลงานของชุดที่ออกแบบตัดเย็บ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแฟชั่นโชว์ การแสดงแบบ "ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก" สุดยิ่งใหญ่ จากผลงานการออกแบบของ 40 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ที่เข้าประกวดผ่านการสวมใส่ โดยนายแบบ นางแบบมืออาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 40 คน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกนี้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ท่านได้ทรงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สินค้าที่ออกแบบโดยคนไทย หรือ 'ผ้าไทย' ได้ถูกประทับตราไว้ว่า "เราไม่เป็นที่สองรองใคร" ซึ่งทุกครั้งที่ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท จะไม่ทรงรับสั่งเรื่องอื่นใดนอกจากเรื่อง "ผ้าไทย" เพราะพระองค์ท่านทรงฝากความหวังไว้กับพวกเราทุกคน ในการที่จะจรรโลงรักษา สืบทอด ต่อยอด ให้ผ้าไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยเป็นที่แพร่หลายไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่พระองค์ท่านทรงฝากความหวังไว้ว่า "จะต้องทำผ้าไทยของเราเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก" กระทรวงมหาดไทยจึงได้น้อมนำพระดำริและพระดำรัส มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ
"คำว่า "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตนได้รับพระราชทานคำอรรถาธิบายจากพระองค์ท่านว่า ไม่ใช่ชุดผ้าไทยแบบคอตั้งแขนยาวใส่แล้วร้อน แต่ผ้าไทย คือ ผ้าที่ทำจากผ้าคนไทย วัตถุดิบไทย ดีไซเนอร์ไทย จะใส่เป็นเสื้อเชิ้ตก็ได้ ชุดซาฟารีก็ได้ เสื้อแจ็กเกตก็ได้ กระโปรงแบบญี่ปุ่นก็ได้ ออกเป็นเสื้อใส่ตามสบายก็ได้ แต่ขอให้เป็นผ้าไทย จนทำให้ตนเข้าใจแล้วว่า ผ้าไทยนั้นมีเอกลักษณ์ คือ วัสดุที่ผลิตขึ้นมาเป็นของไทย ดังนั้น พวกเราทุกคนถือว่าเป็นข้าทูลละอองพระบาทของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และเรามีเจ้านายที่ทรงทุ่มเทในเรื่องของผ้าไทยให้กับพวกเรา จึงเป็นความภาคภูมิใจและเป็นวาสนาอย่างยิ่งที่เราได้มีโอกาสรับสนองพระดำริพระองค์ท่าน ดังที่นายแบบและนางแบบทั้งหลายที่ได้สวมใส่ผ้าไทยจากการออกแบบโดยคนไทยมาเดินแบบในที่นี้ ทำให้เราได้เห็นความสวยงามของผ้าไทย รูปแบบการออกแบบตัดเย็บของดีไซเนอร์ไทยมีความสวยงามจริง ๆ ตนอมยิ้มอยู่ในใจและภาคภูมิใจอยู่ในใจว่า เราใส่ผ้าแบรนด์หรูต่างประเทศมาเยอะแล้ว วันนี้เราเห็นคนต่างชาติที่เป็นนางแบบนายแบบมาใส่เสื้อผ้าไทยของเรา ดีไซน์ของเรา ดูแล้วไม่เห็นว่า ผ้าไทยสวยกว่าด้วยซ้ำ เข้ากับประเทศเมืองร้อนอย่างเรา ออกแบบดีไซน์มาอย่างมีสีสันตระการตา จึงอยากให้พวกเราทุกคนโดยเฉพาะลูก ๆ หลาน ๆ ได้มีความภาคภูมิใจ ไม่มีชุดไหนไม่สวยเลย สวยทุกชุด ดังนั้นเราต้องภูมิใจที่เราได้แสดงเอกลักษณ์ของประเทศไทยให้ต่างชาติได้ชื่นชม"
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแสดงความชื่นชมบรรดานักออกแบบ ช่างตัดเย็บ ที่ตัดเสื้อผ้าให้มีความงดงามอย่างยิ่ง ตลอดถึงอาจารย์ที่ปรึกษา คณะกรรมการ แม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยทั้งในปัจจุบันและในอดีต ที่ได้ทุ่มเทเสียสละและทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ซึ่งตนมั่นใจว่าเราจะสามารถทำให้ผ้าไทยของเราเป็นที่ยอมรับในทั่วโลกในระยะเวลาอีกไม่นานนี้ และตนขอมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการใช้ผ้าไทยของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ด้วยการใส่ผ้าไทย ใช้ผ้าไทย ให้ชาวบ้านของพวกเรามีรายได้ ให้เอกลักษณ์ของประเทศเราได้รับการยอมรับ ให้สินค้าของประเทศไทยของเราโดยเฉพาะ "ผ้าไทย" ได้ส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศและประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเราจะยกระดับให้เพิ่มมากขึ้นด้วยความร่วมไม้ร่วมมือ น้อมนำพระปณิธานสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ ทำให้มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ใส่ใจ ใส่ฝีมือ ใส่สิ่งที่ดีที่สุดในเซลล์ของเรา ในเลือดของเรา เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีงาม เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยทุกคนได้สวมใส่ผ้าไทยหลากหลายรูปแบบที่มีความทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส โดยการสวมใส่ผ้าไทยได้ในทุกโอกาสนั้น รูปแบบของการออกแบบตัดเย็บที่สวยงาม และทันสมัย มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้สวมใส่ "การจัดประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ ระดับประเทศ ที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคการออกแบบตัดเย็บ และการผลิตชิ้นงานชุดผ้าไทยที่ร่วมสมัย เกิดการรังสรรค์การออกแบบตัดเย็บผืนผ้าไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาด สอดคล้องกับแฟชั่นสมัยนิยม ตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก"
นางสาวซาบีดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณท่านผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการออกแบบตัดเย็บ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่ได้ให้เกียรติมาเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดในวันนี้ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้มีกิจกรรมที่ดีเช่นนี้เกิดขึ้น ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าประกวด ทั้ง 40 ราย และคาดหวังว่าทุกท่านจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็นนักออกแบบตัดเย็บผ้าไทยหรือดีไซเนอร์ผ้าไทยที่มีชื่อเสียง สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดความเข้มแข็งของวงจรเศรษฐกิจต่อไป
นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า "กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดการประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ ตามโครงการนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ 2567 (New Gen Young Designer 2024) เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ศึกษาหลักสูตรแฟชั่นดีไซน์ และประชาชนที่สนใจและมีใจรักด้านการออกแบบตัดเย็บผ้าไทยทั่วทุกภาคของประเทศได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน โดยได้คัดเลือกตัวแทนผู้เข้าประกวดจากทั่วประเทศจำนวน 285 ราย ให้เหลือจำนวน 40 ราย เพื่อเข้าประกวดในระดับประเทศในวันนี้ และคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทุกท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็นนักออกแบบตัดเย็บผ้าไทยหรือดีไซเนอร์ผ้าไทยที่มีชื่อเสียงในอนาคต เพื่อสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดความเข้มแข็งของวงจรเศรษฐกิจต่อไป"
สำหรับผู้ชนะเลิศการประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ (New Gen Young Designer 2024) โดยผู้ที่ชนะการประกวดฯ ตำแหน่งต่าง ๆ ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ นายรุจ กล้ำศรี ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท พร้อมจักรเย็บผ้า และ iPad จำนวน 1 เครื่อง, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายนูรดีน แวกะจิ จากกลุ่มทำผ้าค่ายสิรินธร ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวธนัชพร วรธงไชย ได้รับเงินรางวัล 75,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 6 รางวัล รางวัลละ 40,000 บาท ได้แก่ นายนภัต ตันสุวรรณ, นางสาวมยุรี แซ่ท้าว, นายภาวิต ประวัติ, นางสาวชนาธินาถ ไชยภู, นายรัฐพล ทองดี และ นายอนาวิล ทองน้อย
ภาพ กระทรวงมหาดไทย