ปัตตานีสืบสานพระดำริ "ผ้าลายชบาปัตตานี" ยกระดับผ้าไทยสู่สากล
กระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดปัตตานี สนองแนวพระดำริ ลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายชบาปัตตานี" ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เดินหน้าโค้ชชิ่ง การพัฒนารูปแบบการตัดเย็บผ้าไทยและ เผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าปัตตานี
ลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มช่างทอผ้าหวังกระตุ้นให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาเสริมสร้างภาพลักษณ์และการรับรู้คุณค่าของผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดเชิงพาณิชย์
วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดโครงการสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย กิจกรรม พัฒนารูปแบบการตัดเย็บผ้าไทยและเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าปัตตานี โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รองประธานแม่บ้านมหาดไทย ผอ.กลุ่มงานยุทธศาตร์การพัฒนาชุมชน ผอ.กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ผอ.กลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน ทีมที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมอบรม ผู้ร่วมงานจำนวนมาก
นางธัญชนก หมั่นหมาย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ตามที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ แหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายชบาปัตตานี” เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชาวจังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างอัตลักษณ์ สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 อีกทั้ง วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการ ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าทอแบบโบราณ ณ บ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ ต่อไป
โครงการสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและยกระดับ สู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย กิจกรรมหลัก พัฒนารูปแบบการตัดเย็บผ้าไทยและ เผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าปัตตานี ระหว่างวันที่ 4 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ห้องพญาตานี 1 โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาอัตลักษณ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์และการรับรู้คุณค่าของผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายสู่ระดับสากล สามารถออกแบบ ตัดเย็บ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีคุณภาพมาตรฐานที่สูงขึ้น เพิ่มมูลค่าและขยายตลาดเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น
โดยได้กำหนดกิจกรรมในโครงการสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยฯ ดังนี้
1) การออกแบบลายผ้า
2) การสร้างสรรค์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม
3) การสร้างแพทเทิร์นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ มรดกทาง วัฒนธรรม ภูมิปัญญา
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวต่อว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมให้พวกเราคนไทยทุกคนได้สวมใส่ผ้าไทยที่หลากหลายในรูปแบบที่มีความทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาสซึ่งการที่จะสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาสได้นั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนารูปแบบการตัดเย็บผ้าไทย ให้หลากหลายและเป็นที่น่าสนใจ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านการออกแบบตัดเย็บผ้าไทยมาถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า เพื่อให้มีทักษะความรู้ นำไปสร้างอาชีพที่มั่นคง สามารถเพิ่มพูนรายได้
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดปัตตานี เพื่อทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยทรงติดตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ และทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ (6 จังหวัด) ณ อาคารแหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และในการนี้ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานบล็อกไม้ ลาย “ชบาปัตตานี” ลายผ้าประจำจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นผลผลิตจากการจัดอบรมโครงการสืบสานอนุรักษณ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย กิจกรรม พัฒนาลวดลายและผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นสู่การเผยแพร่ อัตลักษณ์ผ้าปัตตานี ให้กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ได้นำลายผ้าไปขยายผล สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีคุณภาพมาตรฐานที่สูงขึ้น เพิ่มมูลค่าและขยายตลาดเชิงพาณิชย์ ได้มากขึ้น
กระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดปัตตานี ได้ดำเนินโครงการตามแนวพระดำริ“ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายผ่านการอนุมัติโครงการตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของจังหวัดปัตตานี โดยให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัตตานีดำเนินโครงการสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย กิจกรรม พัฒนารูปแบบการตัดเย็บผ้าไทยและเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าปัตตานี ระหว่างวันที่ 4 – 6 มิถุนายน 2567 ณ ห้องพญาตานี 1 โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว
นางพาตีเมาะ สะดียามู ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า โครงการสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย นี้ จะทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครี่องแต่งกาย ได้รับการพัฒนาฝีมือด้านการออกแบบและตัดเย็บผ้าไทยให้มีความสวยงาม มีความหลากหลาย มีคุณภาพ และมีการประยุกต์รูปแบบใหม่ที่ร่วมสมัย ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครี่องแต่งกาย มีทักษะความรู้ นำไปสร้างอาชีพที่มั่นคง สามารถเพิ่มพูนรายได้ต่อไป