รีเซต

ปลัด มท. ลุยใต้ 14 จังหวัด หนุน "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตามรอยพระดำริ

ปลัด มท. ลุยใต้ 14 จังหวัด หนุน "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตามรอยพระดำริ
TNN ช่อง16
6 พฤษภาคม 2567 ( 15:54 )
27

(27 เม.ย. 67) ที่โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า กระบี่อ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 1 จังหวัดกระบี่ 


โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางชณิสา หาญภักดีปฏิมา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกระบี่ นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE อ.ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการและรักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และผู้เข้าร่วมอบรม ร่วมงานจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่กิจกรรม Coaching ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ถูกกำหนดจัดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัด "กระบี่" ซึ่งเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยตามลำดับพยัญชนะ ที่จะมีอายุครบ 152 ปีการสถาปนาชื่อจังหวัดโดยล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีนี้ และถ้าสะกดชื่อจังหวัดเป็นภาษาอังกฤษ คือ KRABI "K" คือ King สะท้อนความหมายว่าเป็นจังหวัดของพระราชา และประการที่เป็นมงคลยิ่ง คือ จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างจังหวัดในการทรงประกอบพิธีเปิดศาลากลางจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดแรกในรัชกาล ภายหลังเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และยังเป็นจังหวัดที่มีวัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) เป็นวัดเนื่องในรัชกาลอีกด้วย

"งานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย ตลอดจนถึงอาหาร ประเพณี วัฒนธรรม เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่ง UNESCO ยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ล้ำค่าต่อมวลมนุษยชาติอย่างหาที่สุดไม่ได้ และได้มีการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในทุกปี ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่จับต้องไม่ได้ นั่นคือ "ภูมิปัญญา" แต่สิ่งที่จับต้องได้ คือ ชิ้นงานที่เราสามารถแปลงเป็นรูปธรรมให้หลากหลาย เป็นที่ถูกอกถูกใจประชาชนผู้บริโภคได้ ดังพระราชดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ด้วยการส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ซึ่งนับตั้งแต่พระองค์พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าทั้งประเทศแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท โดยข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอผู้เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ เป็นผู้นำที่มีความสำคัญที่สุด ที่ต้องมี passion มีความเชื่อมั่น (believe) งานจึงจะสนุกสนานและยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น


นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริการส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่ง "ผ้าไทย" มีนัยสำคัญว่า เป็นผ้าที่คนไทยรับ Knowhow มาจากบรรพบุรุษ และสามารถสร้างสรรค์ต่อยอดทำขึ้นมาเองได้ ทั้งผ้าบาติก ผ้ายกดอก ผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าปัก กระเป๋าตะกร้าย่านลิเภา ใยกัญชง งานจักสานต่าง ๆ โดยพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวพระดำริในเรื่องของความยั่งยืนของงานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยไว้ว่า "ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ปู่ ย่า ตา ยาย ต้องถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่" ซึ่งครอบครัวน้องลูกหม่อน อายุ 9 ขวบ ชาวอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นตัวอย่างของการน้อมนำพระดำริดังกล่าวถ่ายทอดภูมิปัญญาทอผ้าสู่รุ่นหลาน จึงเป็นหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยนับเนื่องแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ พัฒนาการ พัฒนากร ต้องขยันลงไปในพื้นที่ ไปพบปะพูดคุยสื่อสาร เอาใจใส่ คลุกคลีตีโมง ผลักดันช่วยเหลือ เพราะพวกเราคือผู้เป็นศูนย์รวมความรัก ความปรารถนาดีของพระองค์ท่าน ที่ต้องช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้พี่น้องผู้ประกอบการมีความขยันฝึกปรือฝีมือในการผลิตชิ้นงานให้ดี เพื่อทำให้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่เพิ่มพูน ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

"พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยชาวปักษ์ใต้มากเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ นอกจากเป็นอาวุธลับที่ทำให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ "ผ้าไทย" จากเดิมไปถึงทางตันแล้ว แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ท่านทรงชี้ทางสว่างให้พวกเราว่า "ผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกยุคสมัย ถ้าเรารู้จักออกแบบลวดลาย รู้จักใช้สี รู้จักรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการผลิตชิ้นงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รู้จักในการตัดเย็บเสื้อผ้า รู้จักในการถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวอัตลักษณ์ (Story Telling) ให้คนรู้จักที่มาที่ไปของผ้าและผลิตภัณฑ์ และต้องมีการ matching วัตถุดิบ ทั้งผ้าไหมดี ๆ ผ้าฝ้ายดี ๆ ถ้าเราสามารถทำให้พี่น้องภาคใต้อุดหนุนผลิตภัณฑ์จากจังหวัดต่าง ๆ มาพัฒนา เช่น ไหม นครราชสีมา คราม สกลนคร ก็จะทำให้เกิดการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ในประเทศ เม็ดเงินก็จะหมุนเวียนเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ ทั้งนี้ หากเราเชื่อและนำไปปรับปรุงพัฒนาศักยภาพตนเอง ชีวิตก็จะดีขึ้น ต้องยึดคติที่ว่า "เกิดเป็นคนต้องเปิดใจให้กว้าง" รับสิ่งใหม่เข้ามาใช้กับชิ้นงานตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความงดงามทางศิลปะและทางอารมณ์ เฉกเช่น ลายสิริวชิราภรณ์ เราก็สามารถหยิบเลือกเอาบางลวดลายในลายดังกล่าว มาผสมผสานกับลายอัตลักษณ์ดั้งเดิมของเราก็ได้ เพื่อให้เกิดลวดลายใหม่ ๆ เพราะเดิมเรามีแต่ผ้าไทยลวดลายตายตัว ไม่มีลวดลายใหม่ ไม่มีชิ้นงานใหม่ ๆ เมื่อมันเดิม ๆ ขายไปก็ไม่มีใครซื้อ งานแฟชั่นต้องมีของใหม่ ๆ ต้องมีของแปลก ๆ มาจำหน่าย เปลี่ยนแปลงปรับปรุง หลากหลายสี หลายหลายลวดลาย หลากหลายขนาด เพราะธรรมชาติของคนมักจะชอบของใหม่ ๆ ของแปลกตา ที่ยังไม่มี จึงขอให้มั่นใจและพัฒนาตนเองต่อไป" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท้ายที่สุด สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นกำลังใจให้กับพวกเรา คือ ต้องมีการประกวดประขัน ที่จะเป็นเครื่องกระตุ้น (catalyze) เพื่อให้ได้ชิ้นงานดี ๆ เพราะพระองค์ท่านทรงอยากเห็นเรารีดเค้นเอาสิ่งที่อยู่ในสมองของเราออกมาเต็มที่ ด้วยการทุ่มเท ใส่ใจ ออกแบบชิ้นงานให้ประณีตงดงาม พิถีพิถันจนเป็นนิสัย ซึ่งจะทำให้เราได้มีชิ้นงานที่เป็นเลิศ แล้วฝีมือก็จะดีขึ้น ๆ จนทำให้ชิ้นงานเป็นที่ต้องการของตลาด ของผู้บริโภค อย่างยั่งยืน โดยในปีนี้มีการประกวด 2 รายการ คือ 1) การประกวดสุดยอดผ้าจังหวัด โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดร่วมกับทุกจังหวัด โดยสามารถส่งผ้าเข้าประกวดภายในวันที่ 10 พ.ค. 67 ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ซึ่งผืนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของแต่ละจังหวัด จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567 และ 2) การประกวดผ้าลายสิริวชิราภรณ์และงานหัตถกรรม รับสมัครระหว่าง 1 มิ.ย. - 15 ส.ค. 67 ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ 878 อำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ

"ในท้ายที่สุด สิ่งที่พระองค์ทรงช่วยทำให้พวกเราชาวมหาดไทยในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ได้เป็นอย่างดี เพราะภารกิจการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มีเป็นจำนวนมาก คนมหาดไทยมีหน้าที่ทำให้ทุกพื้นที่เป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ควบคู่การทำให้เกิด Sustainable Fashion และขอให้พวกเราทุกคนภาคภูมิใจว่า 1) ได้สนองพระปณิธานในการรักษาภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่ 2) ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน 3) ทำให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เพราะ demand ความต้องการของผู้บริโภคจะส่งผลให้เกิด supply ที่ต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น และขอให้เตือนตนเองอยู่เสมอว่า กิจการงานใดใดถ้าเราเข้าใจเป้าหมาย เราก็จะสามารถลงมือทำสิ่งที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ ด้วยความตั้งใจ และในท้ายที่สุดสิ่งที่จะทำให้ความตั้งใจจริงสำเร็จได้ มันจำเป็นต้องเปิดรับสิ่งดี ๆ จากคนที่มีจิตใจดี เสียสละมาพูดคุยกับพวกเรา เพราะสิ่งดี ๆ ที่การอบรมนี้กำหนดมิใช่เพียงแค่มาอธิบายเรื่องลวดลาย เรื่องสี ผ่านหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK และพระราชวินิจฉัยเรื่องลวดลายเก่า ลายใหม่ และต้องเตือนตัวเองว่า "ได้หน้าอย่าลืมหลัง" เพราะลวดลายเก่ายังเป็นที่นิยม ส่วนลายใหม่ก็ต้องอาศัยผู้นำของฝ่ายบ้านเมืองอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดต้องช่วยโปรโมทด้วยการสวมใส่เป็นตัวอย่าง สะท้อนว่า ภาคการผลิต ภาคการประชาสัมพันธ์ ภาคการตลาด และ


เรื่องที่สำคัญอีกประการ คือ แกนกลางของการขับเคลื่อนอยู่ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเพียรพยายามขับเคลื่อนผ่านกลไกภาคราชการ เพราะเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ "ประเทศชาติมั่นคง" มั่นคงทางเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ความมั่นคงของชีวิต ครอบครัวประชาชน ประเทศชาติ และโลก ควบคู่กับ  "ประชาชนมีความสุข" มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง รับเรื่องราวดี ๆ ไปหารือ วางแผน ลงมือทำ นำผลงานดี ๆ ของประชาชนไปสู่สังคมโดยรวมให้มีความหลากหลาย ความสนใจ และช่วยกันอุดหนุนสวมใส่ เพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มพูน และถ่ายทอดสิ่งที่ดี กระตุ้นปลุกเร้าให้สมาชิกของเรามีความอดทน ขยัน มานะ และมีจิตใจรุกรบ ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบากในการผลิตชิ้นงาน เพราะไม่มีคำอ้อนวอนใดใดที่จะลดหย่อนความรัก ความเมตตา เท่ากับการที่เราไม่ยอมอุทิศแรงกายแรงใจในการผลิตชิ้นงานให้มีคุณภาพดีเยี่ยม นั่นหมายความว่า "ต้องดีกว่าเก่า" และ "ดีที่สุดของโลก" ด้วย "Sustainable Fashion" อันจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย



ข่าวที่เกี่ยวข้อง