รีเซต

พณ.กระตุ้นผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซ ติดเครื่องหมาย DBD Registered สร้างมั่นใจซื้อขายบนเน็ต

พณ.กระตุ้นผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซ ติดเครื่องหมาย DBD Registered สร้างมั่นใจซื้อขายบนเน็ต
มติชน
10 เมษายน 2563 ( 09:56 )
84
พณ.กระตุ้นผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซ ติดเครื่องหมาย DBD Registered สร้างมั่นใจซื้อขายบนเน็ต

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยประสบปัญหาไม่สามารถขายสินค้าผ่านหน้าร้านปกติ (ออฟไลน์) ได้ และ ส่วนหนึ่งหันมาทำการค้าขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทั้งการขายผ่านตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) ผ่านเว็บไซต์ของตนเอง หรือ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการควรเร่งเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างระบบการค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

 

ดังนั้น กรมจึงอยากชวนให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทุกช่องทาง ขอรับเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อรับรองว่าผู้ขายมีตัวตนและร้านค้าจริง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า/บริการ ซึ่งจะส่งผลถึงยอดขายโดยรวมในอนาคต ขอรับเครื่องหมาย DBD Registered  ผ่านทาง www.trustmarkthai.com 

 

“กรมได้จัดทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการเจ้าของตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) รายใหญ่ เช่น Shopee, Lazada, JD Central  เป็นต้น  ให้กระตุ้นและเชิญชวนผู้ประกอบการดำเนินการขอรับเครื่องหมาย DBD Registered และจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง  เพื่อยกระดับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ สร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการขยายช่องทางการตลาดในประเทศและต่างประเทศ  “ นายพูนพงษ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า สถิติเรื่องร้องเรียน/ปัญหาออนไลน์ ในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 29,626 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 2,469 ครั้ง ปี 2562 จำนวน 42,947 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 3,579 ครั้ง และ 3 เดือนแรก ปี 2563 จำนวน  9,613 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 3,204 ครั้ง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่อง 1. เว็บไซต์ผิดกฎหมาย 2.การซื้อขายทางออนไลน์ และ 3. ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์

 

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สถิติการร้องเรียนซื้อขายทางออนไลน์ ปี 2561 มีจำนวน 17,558 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,463 ครั้ง ปี 2562 จำนวน 21,148 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,762 ครั้ง และ 3 เดือนแรก ปี 2563 จำนวน 4,786 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,595 ครั้ง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่อง 1. ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) 2.ได้รับสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง (ผิดสีผิดขนาด) ไม่ได้รับตามโฆษณา 3. ได้รับสินค้าชำรุด 4. ได้รับสินค้าผิดกฎหมาย (สินค้าปลอม) และ 5. ได้รับสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด

 

นอกจากนี้ ยังมีการขอคำปรึกษาด้านการซื้อขายออนไลน์ เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย มากถึงร้อยละ 40 ของจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง