ค้าปลีก-อีคอมเมิร์ซปรับตัว ปัจจัยรอดค้าปลีกครึ่งหลังปี 63
กรุงเทพฯ, 25 ส.ค. 63 – ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เผยว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ร้านค้าและเจ้าของโครงการค้าปลีกจำเป็นต้องมีความสามารถในการปรับตัวและอาศัยช่องทางการค้าผ่านตลาดอี-คอมเมิร์ซเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยและมาตรการต่างๆ ที่ถูกนำออกมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เราได้เห็นในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเป็นความท้าทายใหม่ที่ทุกคนต่างไม่ได้คาดคิด ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามสภาพตลาดค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านั้น ร้านค้าปลีกในยุคโควิด-19 จะต้องเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงเพื่อรับมือกับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยที่ลดน้อยลงอย่างมาก แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมการช็อปปิ้งแบบใหม่ของลูกค้า
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ดัชนีค้าปลีกในเดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 34.01% ต่อปี เหตุผลหลักมาจากยอดขายรถยนต์และเชื้อเพลิงที่ลดลง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541 มาอยู่ที่ระดับ 47.2 ในเดือนเมษายน 2563 แต่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนกรกฏาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวกลับมาอยู่ที่ 50.1 ในขณะที่การเติบโตของยอดขายในสาขาเดิม (Same-Store-Sales Growth - SSSG) ในไตรมาสที่สองของปีนี้ยังไม่มีการประกาศออกมา แต่คาดว่าจะเห็นตัวเลขติดลบจากทั้งธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ตลอดทั้งไตรมาส หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และธุรกิจส่วนใหญ่ได้กลับมาเริ่มเปิดให้บริการตามปกติในเดือนมิถุนายน 2563
ซีบีอาร์อีเห็นว่าเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกหลายรายพยายามฟื้นฟูธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยกระตุ้นกำลังซื้อของลูกค้าผ่านกลยุทธ์การขายและการตลาดที่หลากหลาย เช่น การจัดกิจกรรมลดราคาเป็นระยะเวลานานขึ้น และจัดกิจกรรมภายในห้างสรรพสินค้าบ่อยครั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้เช่าที่ทำสัญญาระยาวและระยะสั้น อีกทั้งพบว่าเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกบางแห่งยอมปรับเงื่อนไขการเช่าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับผู้เช่าพื้นที่เดิม ไม่เพียงแต่เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกที่พยายามปรับตัว ซีบีอาร์อียังพบว่าร้านค้าปลีกที่เคยเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ปัจจุบันร้านค้าเหล่านั้นมีความคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มบนออนไลน์และมีแนวโน้มที่จะหันไปทำทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติ ทำให้เกิดการทบทวนว่าอาจจะลดขนาดหรือยกเลิกพื้นที่เช่าที่มีหลายแห่งในปัจจุบัน
จากการสำรวจตลาดพื้นที่ค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิก Asia Pacific Retail Flash Survey โดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มและร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่เน้นการสร้างประสบการณ์ในการใช้บริการ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การเปิดสาขาน้อยลงหรือเพิ่มสาขาเพียงไม่กี่แห่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
“เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ การปรับลดขนาดพื้นที่เช่าเดิมจะกลายเป็นแนวทางที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้เช่าจะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง ห้างสรรพสินค้าจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดวางผังร้านค้าและจัดส่วนผสมของผู้เช่าแต่ละประเภท (Tenant Mix) ให้ละเอียดและรอบคอบมากขึ้น” นางสาวจริยากล่าว
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมและเร่งการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ไปในเวลาเดียวกันด้วย ผู้พัฒนาโครงการค้าปลีกอาจต้องทบทวนแนวคิดในการพัฒนาห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่เพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับตัวให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้ดีขึ้น ความสะดวกสบาย สุขอนามัย ความยืดหยุ่น และระบบออนไลน์จะมีความสำคัญมากขึ้นในการพัฒนาโครงการค้าปลีกในอนาคตยุคหลังโควิด-19
ซีบีอาร์อีเชื่อว่า ในอนาคตการบุกตลาดอี-คอมเมิร์ซจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต้องทำเพื่อให้อยู่รอดได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกของไทยต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่เว้นแต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด เนื่องจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะที่อยู่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ต้องพึ่งพากำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติ