รีเซต

แบงก์ชาติสะพรึงหนี้ครัวเรือนไทยขยับ 90% ของจีดีพี - จับตาเกษตรอ่วมหนักปี’65 จ่อวางเกณฑ์คุมธ.ก.ส.เข้ม

แบงก์ชาติสะพรึงหนี้ครัวเรือนไทยขยับ 90% ของจีดีพี - จับตาเกษตรอ่วมหนักปี’65 จ่อวางเกณฑ์คุมธ.ก.ส.เข้ม
ข่าวสด
21 กรกฎาคม 2564 ( 16:08 )
76

 

แบงก์ชาติมึนหนี้ครัวเรือนพุ่ง - นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเทศ สำหรับประเทศไทย หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงกว่าหลายประเทศ โดยไตรมาส 1/2564 มีหนี้ครัวเรือนคิดเป็น 90.5% ของจีดีพี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากรายได้ประชาชนหดตัว ขณะที่ภาระหนี้เดิมที่มีอยู่ เพิ่มสูงขึ้น

 

 

ในประเทศไทยพบว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 34% สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต 28% และมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากมีเจ้าหนี้หลากหลาย ทั้งหนี้จากธนาคารพาณิชย์ และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีสัดส่วน 72% คิดเป็น 3 ใน 4 ส่วนที่เหลือ อยู่นอกการกำกับดูแลของ ธปท. มาตรการจึงต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะ ธปท. เพียงอย่างเดียว

 

 

ที่ผ่านมา ธปท.เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งต้นน้ำ คือ ให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน ไม่ก่อหนี้เกินตัว กลางน้ำ คือ ออกมาตรการกำกับดูแล และวางกฎเกณฑ์ ควบคุมดูแลเจ้าหนี้ และ ปลายน้ำ คือ วางโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเครื่องมือ กลไก ในการแก้ปัญหาหนี้ เช่น คลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น รวมทั้ง มาตรการลดเพดานดอกเบี้ย สินเชื่อบัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคล ลงอีก 2-4% และมาตรการดูแลในสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนล่าสุดมาตรการระยะ 3 ในช่วง พ.ค.2564

 

 

"ในเดือน ส.ค.นี้ ธปท.จะเปิดตัวโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน อย่างเป็นทางการ ซึ่งนำร่องผ่านเว็บไซต์ ธปท. ไปบ้างแล้ว โครงการนี่ จะให้คำแนะนำ ช่วยเหลือลูกหนี้รายกลุ่ม ทั้งรายย่อย และ ธุรกิจ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกสถาบันการเงิน เข้ามาให้คำแนะนำ บริหารจัดการหนี้ ในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการลดหนี้ หารายได้ ควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นต้น"

 

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธปท.เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้แล้วกว่า 1.66 ล้านล้านบาท หรือ 4.4 ล้านบัญชี เช่น โครงการคลินิกแก้หนี้ ช่วยไปแล้วกว่า 1.9 หมื่นคน 6 หมื่นบัญชี วงเงิน 5 พันล้านบาท ทางด่วนแก้หนี้ กว่า 2.8 แสนราย มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ กว่า 2.67 แสนบัญชี และล่าสุดสินเชื่อเช่าซื้อ กว่า 2.2 หมื่นราย

 

 

ในระยะต่อไป ธปท.จะดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1. วางโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งมีเครดิตบูโร ดำเนินการอยู่ ก็จะดึงข้อมูลเจ้าหนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ 2. ผลักดันให้เจ้าหนี้ ให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม ไม่ให้ลูกค้ามีหนี้เกินตัว ต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ 3. ให้ความรู้การบริหารหนี้ กับประชาชนครบวงจร และ 4. ส่งเสริมให้มีช่องทางการกู้ยืมเงินที่มีความหลายหลาย และเหมาะสม เช่น ที่ดำเนินการอยู่ คือ พีทูพี เล็นด์ดิ้ง เป็นต้น

 

 

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า ในปี 2565 จะมีปัญหาใหญ่ที่ต้องติดตาม คือ หนี้ภาคการเกษตร ซึ่งมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลลูกหนี้ส่วนใหญ่ ดังนั้น การที่ ธปท. จะเข้าไปวางกฎเกณฑ์ การตัดหนี้ จึงทำได้ยาก แต่ก็อยากเห็นแนวปฏิบัติแบบธนาคารพาณิชย์ มาใช้กับ ธ.ก.ส. แม้ว่า จะมีกฎหมายเฉพาะ และลักษณะของลูกค้าที่มีรายได้ตามการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชแต่ละชนิดตามฤดูกาล แต่ ธปท. ก็ต้องหาวิธีดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแบบนี้

 

 

นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 3/2564 ธปท. เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของธนาคารพาณิชย์รวมกว่า 300 รายการ เพื่อให้การคิดค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมต่างๆ สะท้อนต้นทุนและรายได้แท้จริงของสถาบันการเงินมากที่สุด

 

 

โดยเบื้องต้นจะให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยเหลือประชาชน และจะให้สถาบันการเงินมีการเปิดเผยค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ อย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ และจะต้องมีการส่งให้ ธปท. เพื่อรวบรวมข้อมูลค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูเพื่อเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมแต่ละประเภทของแต่ละสถาบันการเงินได้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

 

 

“หลักเกณฑ์นี้จะประกาศนี้จะคล้ายกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ตคอนดักต์) ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 7-8 ข้อที่จะกำหนด แต่ธปท. จะไม่กำหนดเป็นอัตราว่า ค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทจะเป็นเท่าไร เพราะต้นทุนแต่ละธนาคารแตกต่างกัน และให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคาร และเมื่อประกาศหลักเกณฑ์ไปแล้ว ธปท. จะสุ่มดูว่า อัตราค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร และ ต้องตอบให้ได้ว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวสอดคล้องกับต้นทุนธนาคารหรือไม่”

 

 

นางธัญญนิตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้ ธปท. พิจารณาปรับลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย อาทิ ดอกเบี้ยบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล ว่า ขณะนี้ ธปท. กำลังพิจารณาอยู่ ยังไม่มีคำตอบว่าจะลดหรือไม่ลด เพราะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบคอบทุกด้าน ทั้งการกำหนดราคาที่เหมาะสม และการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนบางกลุ่ม เพราะหากมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงก็จะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ ซึ่งก็จะต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบแทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง