ชาวอเมริกัน ติดหนี้ "บัตรเครดิต" สูงสุดเป็นประวัติการณ์
เฟดสาขานิวยอร์ก เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนรายไตรมาสว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ยอดคงค้างบัตรเครดิต ในสหรัฐเพิ่มขึ้น 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.013 ล้านล้านบาท) มาเป็น 9.86 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 32.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แซงหน้าสถิติเดิมซึ่งอยู่ที่ 9.27 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30.6 ล้านล้านบาท) ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไตรมาส 4 ปี 2562
หากอ้างอิงตามรายงานดังกล่าว ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เปอร์เซ็นต์ผู้ใช้บัตรเครดิตที่ชำระยอดการรูดบัตร ล่าช้าอย่างน้อย 30 วัน พุ่งขึ้นแตะระดับ 5.9% จากช่วงก่อนหน้าที่ 5.2% ขณะที่เปอร์เซ็นต์ผู้ค้างชำระบัตรเครดิตขั้นรุนแรง หรือล่าช้า 90 วันขึ้นไป เพิ่มขึ้นแตะระดับ 4% ในไตรมาสเดียวกัน จาก 3.7% ในไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ แม้อัตราส่วนดังกล่าวจะยังน้อยกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทว่าเฟดสาขานิวยอร์กเผยว่า “อัตราส่วนการผิดนัดชำระหนี้อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566”
ขณะเดียวกัน จากรายงานรายไตรมาสของทรานส์ยูเนียน หน่วยงานรายงานเครดิตผู้บริโภคของอเมริกา ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 หนี้บัตรเครดิต ทั้งหมดในสหรัฐเพิ่มขึ้นแตะระดับ 9.306 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30.7 ล้านล้านบาท) หรือขยายตัว 18.5% จากในปีก่อนหน้า ส่วนยอดคงค้างบัตรเครดิตเฉลี่ยต่อประชากร 1 คนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 5,805 ดอลลาร์ต่อคน (ประมาณ 191,565 บาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แมตต์ ชูลซ์ หัวหน้านักวิเคราะห์เครดิตจากเลนดิงทรี บริษัทให้บริการออนไลน์มาร์เก็ตเพลสของสหรัฐ ระบุว่า ผู้ถือบัตรเครดิตยังเหลือทางเลือกในการแก้ปัญหาหนี้บัตรอยู่ หนึ่งในนั้นคือ “Zero-percent Balance Transfer” หรือแคมเปญที่รวบหนี้บัตรเครดิตของลูกค้าเป็นก้อนเดียวโดยไม่มีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำมาก ซึ่งวิธีการนี้เป็น “อาวุธ” ที่ดีที่สุดที่ชาวอเมริกันมีเพื่อต่อสู้กับหนี้บัตรเครดิต
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN