'ธนาธร' นำชมโรงงาน ประกาศพร้อมช่วยผลิตอุปกรณ์การแพทย์ป้อนร.พ.ทั่วประเทศฟรี
‘ธนาธร’ พร้อมช่วยผลิตอุปกรณ์การแพทย์ป้อนร.พ. ทั่วประเทศ ปัดไม่รู้ ‘แม่สมพร’ คือมหาเศรษฐีที่ถูกเลือก ฝากบอกรัฐบาล ‘อย่าให้ประชาชนอดตาย’
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 เมษายน ที่บริษัทจรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะแกนนำคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ต่อข้อถามกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเชิญ 20 มหาเศรษฐีของประเทศไทยมาร่วมกันช่วยแก้ไขผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวิธีที่จะช่วยแก้ไขได้หรือไม่ ว่า สำหรับตนขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สังคมจะต้องร่วมมือกัน อย่างกรณีการร่วมมือของบริษัทเอกชน 3 บริษัทที่ร่วมกันทำอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล บริษัทเอกชนเหล่านี้คนละไม้คนละมือก็สามารถทำงานให้กับสังคมได้
เมื่อศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาติดต่อคณะก้าวหน้า ตนก็ได้ติดต่อเครือข่ายที่รู้จัก เช่น นายนพพล ชัยจรูญรัตน์ กรรมการบริษัทจรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเมื่อได้รับการติดต่อ นายนพพล ก็ไม่ปฏิเสธ และเริ่มทำงานอย่างแข็งขัน ถือเป็นสปริตของสังคมไทย ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก หากพวกเราทำอะไรได้ก็ช่วยกันทำ ตนคิดว่าการร่วมมือกันของเอกชนเป็นสิ่งที่เราสามารถทำกันได้ ในภาวะที่เป็นวิกฤตขนาดนี้ เราร่วมแรงร่วมใจกันได้
เมื่อถามว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วิธีส่งจดหมายขอความร่วมมือถึงมหาเศรษฐีของไทย จะช่วยกระตุ้นหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า “ผมไม่ทราบ ผมไม่รู้ ผมไม่ได้ติดตาม” เมื่อถามว่า หนึ่งใน 20 รายชื่อมีชื่อของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธรด้วย นายธนาธร กล่าวว่า “ผมไม่ทราบเลยว่า คุณแม่ได้รับจดหมายหรือไม่” เมื่อถามว่า ล่าสุดนางสมพรได้ออกไปแจกเงินและสิ่งของจำเป็นแก่ประชาชนที่เดือดร้อน นายธนาธร ตอบว่า “อันนั้นก็เป็นเรื่องของคุณสมพร ความจริงท่านก็ไม่ได้ปรึกษาผมด้วย ซึ่งท่านก็ได้ทำในนามของมูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนา แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนของสังคม สามารถรับผิดชอบต่อสังคมได้คนละไม้คนละมือ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการต่อยอดโครงการทำอุปกรณ์การแพทย์ต่อไปอีกหรือไม่ นายธนาธร กล่าวว่า หากยังมีความต้องการในการใช้อุปกรณ์การแพทย์ก็จะทำต่อไป อย่างโครงการที่กำลังทำอยู่นี้ตนต้องปรึกษากับโรงพยาบาลเยอะมาก ไม่กล้าที่จะออกแบบอุปกรณ์เองโดยที่ไม่ปรึกษากับทางผู้ใช้จริง เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับสาธารณสุขหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ดังนั้นหากโรงพยาบาลใดมีความต้องการสามารถติดต่อตนมาได้ เพราะตนเชื่อว่าหากเราได้มีโอกาสมานั่งคุยกันและได้ทราบความต้องการจริงๆ ฝ่ายเราก็สามารถช่วยในการออกแบบได้ ดังนั้นหากมีโรงพยาบาลใดที่อยากได้อุปกรณ์นอกเหนือจากนี้ เราก็เปิดที่จะศึกษาร่วมกัน ที่สำคัญที่สุดคือความต้องการของผู้ใช้ว่าต้องการจะใช้งานอย่างไร เพื่อออกแบบให้ตอบสนองการใช้งานจริงๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะนักธุรกิจมีความเห็นอย่างไรต่อกรณีที่รัฐบาลกำลังจะผ่อนปรนมาตรการล็อก ดาวน์ นายธนาธร กล่าวว่า ต้องมีการรักษาสมดุลย์ระหว่างการดำเนินการทางเศรษฐกิจ กับการหยุดยั้งการแพร่ระบาด หากจะใช้วิธีการหยุดยั้งการแพร่ระบาดแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด หรือ semi-lockdown ต่อไป ก็ต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และรัฐบาลก็ต้องทำให้มั่นใจว่าการเตรียมการด้านสาธารณสุขมีการเตรียมการที่ดีขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทุกครั้ง ดังนั้นมาตรการแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด ก็เป็นโมเดลหนึ่งที่สามารถทำได้
“ทั้งนี้จะต้องมีการการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งเปิดกึ่งปิด เมื่อผมลงพื้นที่ก็พบว่าคนเดือดร้อนจริงๆ อดตายกันหมด ผมจึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลว่า อย่าให้ประชาชนอดตาย อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน” นายธนาธร กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวผลิตขึ้นเพื่อช่วยโรงพยาบาลรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา(COVID-19)และอำนวยความสะดวกแก่บุคคลากรด้านสาธารณสุข อุปกรณ์ทั้งหมดจะส่งมอบแก่โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น