รีเซต

'วีริศ' ย้ำรง.ในนิคมฯที่เข้าข่ายต้องทำมาตรฐานพีเอสเอ็มปีนี้ ไม่ใช่แค่เสือกระดาษ

'วีริศ' ย้ำรง.ในนิคมฯที่เข้าข่ายต้องทำมาตรฐานพีเอสเอ็มปีนี้ ไม่ใช่แค่เสือกระดาษ
มติชน
20 สิงหาคม 2564 ( 09:44 )
72
'วีริศ' ย้ำรง.ในนิคมฯที่เข้าข่ายต้องทำมาตรฐานพีเอสเอ็มปีนี้ ไม่ใช่แค่เสือกระดาษ

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมประชุมออนไลน์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของประเทศไทยในยุคCovid-19(Thailand Occupational Safety,Health, and Working Environment Webinar) จัดโดย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ในหัวข้อ“การป้องกันและลดอุบัติภัยร้ายแรง ในโรงงานอุตสาหกรรม : เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยมีวิทยากรผู้เข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคมวิศวกรรมความปลอดภัย นางจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายกฤษฎา ชัยกุล ผู้จัดการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ด้านความปลอดภัยกระบวนการผลิต โรงกลั่นน้ำมัน เชฟรอน อเมริกา (Chevron USA) และนายเด่นศักดิ์ ยกยอน อาจารย์ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

นายวีริศ กล่าวช่วงหนึ่งว่า กนอ.มีมาตรการบริหารจัดการและส่งเสริมผู้ประกอบการในการลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัยภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งออกข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 (ข้อบังคับฯ PSM) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับโรงงานที่เข้าข่ายในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง โดยข้อบังคับดังกล่าวเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต(PSM) และการตรวจประเมินความปลอดภัยกระบวนการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในปีนี้ (2564) ตั้งเป้าไว้ว่าให้โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่เข้าข่ายต้องจัดทำมาตรฐาน PSM ประมาณ 321 โรง ต้องจัดทำมาตรฐานให้ครบทุกโรง โดยข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดให้มีการตรวจประเมินความปลอดภัยกระบวนการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปมีการตรวจประเมินทุก 5 ปี และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงให้มีการตรวจประเมินทุก 3 ปี

 

“ในส่วนของกระบวนการจัดทำและปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยตามข้อบังคับ PSM แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1.ความมุ่งมั่นต่อการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต 2.ความเข้าใจและระบุปัญหาปัจจัยความเสี่ยง 3.การบริหารความเสี่ยง และ 4.การถอดบทเรียน ซึ่งทั้ง 4 ข้อนั้นไม่อยากให้มองว่ามาตรฐาน PSM ของกนอ.เป็นเพียงเอกสารทางราชการ หรือการทำ ISO เท่านั้น แต่เป็นความมุ่งมั่นในการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร พนักงาน กนอ. และชุมชนเจ้าของพื้นที่ ที่ต้องเข้ามาเป็นส่วนร่วมสนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยมีการวางแผนล่วงหน้าว่า หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นขั้นตอน และลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด โดยอาจมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าปัจจัยของความสำเร็จทุกการดำเนินงาน คือ การทำงานอย่างมีส่วนร่วมจริงจัง ไม่ใช่เป็นแต่กฎหมายอยู่ในกระดาษเท่านั้น”นายวีริศ กล่าว

 

นอกจากนี้ กนอ.ยังส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้เข้าสู่กระบวนการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Factory) โดยสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และพัฒนาสิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตรการจูงใจสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Factory) และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.โดยแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ใน 5 มิติ 22 ด้าน ที่มุ่งเน้นให้ชุมชน นิคมอุตสาหกรรม และสังคมอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน และเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ คุณภาพชีวิตของชุมชน รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดีควบคู่ตามไปด้วย

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง