กสทช. มุ่งพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หนุนวงการ 'อีสปอร์ต' แนะไทย สร้างเกมเอง
มื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่อาคารสำนักงานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) บริษัท เอกซ์ดรีม สปิริต จำกัด โดยนายฐานนท์ เรืองวิวัฒนพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอกซ์ดรีม สปิริต จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของอีสปอร์ตในเมืองไทย ผนึกกำลังกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดแถลงข่าว และจัดงานสัมมนาใหญ่หัวข้อ “ศักยภาพ ESPORTS ไทย สู่สากล วิถีชีวิตยุคดิจิทัล” โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน และปาฐกถาพิเศษ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เกี่ยวข้อง
ในส่วนของการเสวนาหัวข้อ “ESPORTS โอกาสใหม่แห่งยุคดิจิทัล” ดำเนินรายการโดยนายบัญชา ชุมชัยเวทย์ พิธีกร และมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่วมกันผลักดันพัฒนากีฬาอีสปอร์ตของเมืองไทยให้ก้าวไปสู่การยกระดับเป็นอุตสาหกรรมเกมอีสปอร์ต ต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเข้าร่วม
ดร.ประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ทางกสทช.ถือว่ามีทรัพยากรค่อนข้างพร้อม เราเน้นเรื่องของการเชื่อมต่อต่างๆ ประเทศไทยถือว่ามีอินเตอร์เน็ตความเร็วระดับต้นๆ ของโลก มี 5G ใช้เป็นประเทศแรกๆ ของโลก ซึ่งบนอินเตอร์เน็ตของไทยอันดับ 1 ก็คือธุรกิจเกม เรื่องนี้ทางกสทช.ได้คาดการณ์เอาไว้แล้วว่าด้วย 5G จะสามารถสร้างเม็ดเงินในด้านธุรกิจเกมได้มากกว่า 3 แสนล้านบาท ถ้าไม่ติดช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ก็ได้เห็นความเติบโตบางส่วนแล้วบ้าง
“ถ้าดูจากแพ็คเกจของเครือข่ายต่างๆ เริ่มมีแพ็คเกจของ AR หรือ VR มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่เข้าได้กับการเล่นเกม ทำให้ผู้เล่นมีความเสมือนจริงมากขึ้น เหมือนอยู่ในเกม ทำให้เกิดมีการสร้างการเข้าถึงมากขึ้น มีการเชื่อมต่อที่ดี และสร้างผู้พัฒนาเกมเพิ่มเติม ทำให้มีกิจกรรมด้านเกมมากขึ้น”
ดร.ประถมพงศ์ กล่าวต่อว่า ดูอย่างประเทศเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ผลิตเกมเป็นลำดับต้นๆ ของโลก มุมมองของเกาหลีใต้นั้นจะเน้นเรื่อง 5G เป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน ถ้าสามารถนำมาบวกกับเรื่องของการพัฒนาเกมก็จะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของประเทศ ซึ่งถ้ามองประเทศไทยแล้ว ถ้าหากโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ประเทศไทยก็ไม่เป็นรองใครเช่นกัน
ในหัวข้อมุมมองการพัฒนาของไทย อะไรที่ต้องให้ความสำคัญบ้าง ดร.ประถมพงศ์ กล่าวว่า ในบทบาทภาครัฐมองว่าจะต้องมีการพยายามสร้างคอนเทนต์เกมที่เป็นของไทยเอง เพราะว่ารายได้ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากผู้สร้างเกมเป็นหลัก ต้องจับพฤติกรรมผู้บริโภค หรือแนวทางของตลาดซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ในระยะสั้นมองว่าทำอย่างไรให้เกมปัจจุบันที่มีเกมติดกระแสอยู่แล้ว มีการสร้างผู้เล่นขึ้นไปเกาะเทรนด์ของโลก ทำให้เกิดนักเล่นที่เก่งรวมถึงอินฟลูเอ็นเซอร์มากขึ้น
ดร.ประถมพงศ์ กล่าวต่อว่า ในระยะยาวเราจะต้องมีการพัฒนาเกมให้เข้าถึงผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น อย่างในเกาหลีเขามองเรื่องเกมเป็นการขยายอิทธิพลหรือเปลี่ยนแนวความคิดของคน อย่างเช่นการตีตลาดซีรีส์เกาหลีในยุโรปหรือสหรัฐ ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านั้นขึ้นชื่อเรื่องซีรีส์อยู่แล้ว ซึ่งที่เกาหลีทำแบบนั้นได้เพราะเขาทำการสำรวจข้อมูลหนักมาก
“ในการทำเรื่องเกมถ้าอยากให้ได้เม็ดเงินกลับคืนมามันก็จะต้องสร้างของเราขึ้นมา ถ้าหากทำการสำรวจขอมูลมากขึ้น ดูว่านักเล่นเกมชอบเกมแบบไหน สร้างเกมของไทยขึ้นมาเองให้เข้ากับผู้เล่น ซึ่งเรื่องแบบนี้อาจจะใช้เวลานาน แต่ว่าก็เป็นความยั่งยืนในอนาคตได้เช่นกัน”
นอกจากนี้ ดร.ประถมพงศ์ ยังพูดถึงข้อเสนอแนะว่า สำหรับกสทช.นั้น มองเห็นความสำคัญ เราเน้นเรื่องการเชื่อมต่อให้เข้าถึงเกมได้ง่ายขึ้น ความเป็นที่นิยมของเกมนั้น ขึ้นมาจากอินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกสทช.ก็จะสนับสนุนในส่วนแอพพลิเคชั่นที่จะรันบน 5G เพราะเกมเป็นแอพพลิเคชั่น เป็นส่วนที่ทำให้เห็นรายได้ของผู้ให้บริการได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใส่เรื่องเกมเข้ามาในแพคเกจ ทำให้เห็นว่าเกมเล่นได้ทุกที่ สร้างความคุ้นชินและสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับประชาชน
“กสทช.ก็จะเน้นเรื่องการเชื่อมต่อให้คงมาตรฐานและจับกับเทรนด์ใหม่ๆ อาจจะสร้างคลื่นเพิ่มเติม นำมาซึ่งการเสริมการใช้งานด้านเกม โครงสร้างพื้นฐานควรจะต้องเพิ่มความเร็วได้ในทุกพื้นที่ และอีกอย่างหนึ่งก็คือกสทช. มีศูนย์ที่เป็นอินเตอร์เน็ต ถ้าเราจะสร้างการแข่งขันขึ้นมา เล่นได้ทุกที่ ออนไลน์ด้วย เสริมกับธุรกิจอีสปอร์ต อาจจะช่วยสร้างนักกีฬาเพิ่มขึ้นมาได้อีก”
นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า เมื่อปี 63 ทางกระทรวงได้สร้างศูนย์ดิจิตอลชุมชนขึ้นมา 250 ศูนย์ ตอนนี้มี 500 ศูนย์ได้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ หรือเป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซ มีคนที่คอยให้คำแนะนำ เป็นศูนย์หนึ่งที่คิดว่าให้เด็กๆ เยาวชน ได้เข้ามาในพื้นที่พัฒนา เล่นเกมกันเป็นกลุ่ม ศูนย์นี้ในปีหน้าคิดว่ากสทช.ก็มีแผนพัฒนากว่า 2000 ศูนย์ มีความเร็วอินเตอร์เน็ตด้วย เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาได้เช่นกัน
โปรดติดตามการแถลงข่าวเปิดตัวการแข่งขันอีสปอร์ต รายการ “2022 META ESPORTS & DIGITAL LIFE ” ซึ่ง Live Streaming ผ่าน Facebook มติชนออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจ, ข่าวสด และ YouTube มติชนทีวี, Line มติชน อยู่ในเวลานี้จนถึงเวลา 12.00 น.