รีเซต

ธปท. เผย สินเชื่อระบบแบงก์ Q2/63 โต 5% แต่กำไรลดลง

ธปท. เผย สินเชื่อระบบแบงก์ Q2/63 โต 5% แต่กำไรลดลง
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2563 ( 16:21 )
68

วันนี้(17ส.ค.63)นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2563 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินในภาวะที่ท้าทายในระยะต่อไปได้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรน

การจัดชั้นลูกหนี้ ช่วยสนับสนุนสินเชื่อและชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ 

ขณะที่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของ COVID-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,877 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 19.2  เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 743.7 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ที่ร้อยละ 144.1 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ที่ร้อยละ 183.4

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้

สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 65.2 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ตามการใช้สินเชื่อของภาครัฐ 

และธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับสินเชื่อ SMEs ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เป็นผลให้หดตัวในอัตราที่ลดลง

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 34.8 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ สอดคล้องกับการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้นภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกัน (pre-emptive) ซึ่งช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ 

โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 509.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 3.09 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.04 โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 7.48ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.69

ในไตรมาส 2 ปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 31.0 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 53.3 พันล้านบาท โดยหลักจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจมีแนวโน้มด้อยลง ประกอบกับรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารปรับลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.57 จากร้อยละ 1.03 ในไตรมาสก่อน สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.60 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.90 ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงสอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของ ภาคธุรกิจและประชาชนเป็นสำคัญ

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง