รีเซต

เปิดทางรอด เอสเอ็มอีไทย 3 ข้อ พลิกฟื้นธุรกิจ

เปิดทางรอด เอสเอ็มอีไทย 3 ข้อ พลิกฟื้นธุรกิจ
TNN ช่อง16
21 กรกฎาคม 2564 ( 17:45 )
43

ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายยากลำบาก ในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งลากยาวกว่าที่เคยมีการคาดการณ์เอาไว้ แน่นอนว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีปัญหา และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว หรือไมโครไฟแนนซ์ แน่นอนว่า ผลกระทบย่อมมากกว่า วันนี้รายการเศรษฐกิจ Insight จึงหาข้อเสนอแนะ ที่จะเป็นทางรอดสำหรับธุรกิจ ซึ่งต้องบอกว่า ถ้าไม่สู้ ถ้าไม่ปรับ ยอมแพ้ต่อโชคชะตาก็ตาย 100% 


แต่ต้องบอกว่า ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา ของแต่ละธุรกิจ และขนาด ซึ่งหลากหลายเหลือเกินในประเทศไทย ต้องวิเคราะห์ เจาะให้พบปัญหา และเมื่อยอมรับ หรือ เห็นว่ามีปัญหาก็จะนำมาสู่ทางแก้ไข รวมถึงมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วันนี้มีรายละเอียดมาฝากด้วย 



พาคุณผู้ชมไปดูภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอี ของสํานักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ณ สิ้นปี 2563 มีผู้ประกอบการทั้งหมดภายใต้นิยามเอสเอ็มอีอยู่ที่ 3,134,442 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการขนาดขนาดจิ๋ว 2,673,922 ราย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก 415,679 ราย และผู้ประกอบการขนาดกลาง 44,847 ราย ต้องบอกว่า นี่คือรากฐานเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง เพราะเอสเอ็มอี เมื่อเทียบกับวิสาหกิจทั้งหมดของประเทศ คิดเป็นกว่า 99.5% ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศไทย เพราะธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทย มีเพียงแค่ 2,000 กว่ารายเท่านั้น 


ขณะที่ การจ้างงาน เทียบผู้มีงานทำ ณ สิ้นปี 2563 ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ มีผู้มีงานทำทั้งหมด 38.7 ล้านคน และจากข้อมูลของ สสว. ปรากฎว่า เอสเอ็มอี มีการจ้างงานแรงงานทั้งหมด 12.7 ล้านคน หรือราว 32.8% ของการจ้างงานทั้งหมด แบ่งเป็น ผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว จ้างงาน 5.2 ล้านคน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก 4.9 ล้านคน และผู้ประกอบการขนาดกลาง 2.4 ล้านคน โดยค่าเฉลี่ยการจ้างงานต่อ 1 ธุรกิจอยู่ที่ 4 คน 


นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ลากยาว และยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ขณะนี้ อาจส่งผลกะระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ซึ่งเคยสำรวจช่วงต้นปี ระบุว่า มีสภาพคล่องเหลือ 6 เดือน เท่านั้น และจนถึงตอนนี้ อาจไม่เหลือสภาพคล่อง ทำให้มีการปิดกิจการทั้งชั่วคราว และถาวรไปแล้ว เนื่องจากรายได้ของผู้ประกอบการหายตั้งแต่ 50-100% โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ ยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น


ขณะที่ นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ยอมรับว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความแตกต่างทั้งประเภทธุรกิจ และขนาด รวมถึงปัจจัยและผลกระทบ ซึ่งแตกต่างกันมาก ดังนั้นสูตรสำเร็จของโมเดลช่วยเหลือก็ต่างกัน แต่ 3 ข้อที่ต้องคิดในการผลักดันธุรกิจให้ผ่านปัญหาไปได้ หรือ เรียกสั้นๆ แต่ทำยากมาก คือ การปรับตัว 


3 ข้อ ในการปรับตัว เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ สำหรับเอสเอ็มอี ที่จริงต้องบอกว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ใช้ แนวทางนี้ในการปรับตัว ข้อแรกคือ รู้โรค  หลายคนบอกว่า รู้แล้วก็เพราะโควิด-19 ทำให้รายได้ของเราหายไป แต่ต้องไม่หยุดแค่นั้น ต้องคิดต่อว่า แล้วเราประสบปัญหาอย่างไร เพื่อจะระบุได้ว่าเราเป็นโรคอะไร , ข้อ 2 รู้ทาง เมื่อเรารู้แล้วว่าธุรกิจเรามีปัญหาอย่างไร ก็ต้องหาทางแก้ปัญหา แน่นอนต้องมีมากกว่า 1 ทาง และสุดท้าย คือ  ตัดสินใจ คือ การเลือกทางเดินที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของเรา 


 


สิ่งที่ยากที่สุด คือการเริ่มต้น หรือ ข้อ 1 การรู้โรค ว่าธุรกิจเราเป็นอะไร คุณสุรชัย แนะนำให้หาตัวเองให้เจอ ว่าอยู่กลุ่มไหน โดยแบ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็น 5 กลุ่ม คุณผู้ชมลองดูตามว่า ตนเองอยู่กลุ่มไหน กลุ่มที่ 1 กลุ่มไม่ป่วย ต้องยอมรับว่า หลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ค้าขายออนไลน์อยู่แล้ว แม้จะล็อกดาวน์ แต่ตลาดที่เปิดเอาไว้ แข็งแกร่งมากขึ้นก็มี ทั้งการขายมือถือ ค้าขายทั่วไปหรือ การค้าขายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ 


ป่วยน้อย ยอดขายลดลง 10-20% กลุ่มนี้ ซึ่งน่าจะมีเป็นจำนวนมาก ,ป่วยกลาง เริ่มติดขัด เพราะรายได้หายไป 50% ส่งค่างวดไม่ไหว , ป่วยหนัก ยอดขายร่วงลดลงกว่า 50% กลุ่มนี้เสี่ยง ที่จะเป็น NPL โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว และ กลุ่มสุดท้าย กลุ่มป่วยไม่รู้ตัว ที่ยังไม่ทราบว่า ป่วยด้วยอะไร เช่น บางราย มีรายได้ปกติ แต่สภาพคล่องหาย ต้องไปหาธนาคารกู้เงิน แต่ธนาคารกลับไม่อนุมัติ เป็นต้น ซึ่งมีกลุ่มนี้ไม่น้อยที่เข้ามาปรึกษา ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย.


  


5 ประเด็นทางธุรกิจที่ต้องปรับตัว และต้องทำเชิงลึก เพราะเรารู้จักธุรกิจดีที่สุด ไม่มีคนรู้ธุรกิจดีเท่าตัวเจ้าของธุรกิจเอง ข้อแรก คือ รายได้ ถ้าหากรายได้ลดลง จะต้องรู้ว่ารายได้ลดลงจากไหน ลูกค้าใหม่ ลูกค้าเก่า ลูกค้าหลัก ลูกค้ารอง กลุ่มขาย B2B หรือ B2C ตกสั้นหรือตกยาว สามารถหารายได้ส่วนอื่นเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ 


รายจ่าย เลือดไหนออกทุกวัน คงอยู่ไม่ได้ ต้องลดรายจ่ายให้ทันรายได้ ลดต้นทุนสินค้า ลดต้นทุนการบริหาร ทั้งหมดที่เป็นต้นทุนคงที่ หลายรายที่เข้ามาหา และสามารถลด 10-20% ทั้งหมดโยงมาถึง สภาพคล่อง บางราย รายได้ไม่ตกแต่สภาพคล่องลด เพราะถูกยืดเครดิตเทอม อาจทำให้ติดขัดได้ ต้องรีบวางแผน


ทรัพย์สิน บางธุรกิจมีเงินจมอยู่กับทรัพย์สิน หรือ สินค้าสต๊อก รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่ได้สร้างรายได้ หรือ ทรัพย์สินที่จดจำนอง ทั้งหมดสามารถเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดได้หรือไม่ , และ หนี้สิน ซึ่งสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์รัฐ และแบงก์พาณิชย์ ต่างออกมาให้พักชำระหนี้อย่างต่ำ 2 เดือน แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจต้องวางแผนระยะยาว ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงหลายธุรกิจ แยกหนี้ส่วนตัว กับหนี้ธุรกิจไม่ออก ก็ต้องแยกออกมาให้ได้  


ทั้งหมดนี้คือการจัดการธุรกิจภายในก่อน ยังไม่ต้องออกไปข้างนอก คิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน และควรทำทันที ก็จะเห็นทางในธุรกิจของตนเองพอสมควร บางบริษัทมีหลายธุรกิจ อาจต้องคิดว่า ธุรกิจไหนมีโอกาส ธุรกิจไหนต้องเพิ่ม หรืออาจต้องเปลี่ยนธุรกิจไปเลย เพื่อโอกาสในการอยู่รอด ทั้งหมดนี้ต้องการการตัดสินใจโดยเร็ว


เมื่อกระบวนการวิเคราะห์เสร็จสิ้นแล้ว อาจต้องใช้เงิน คราวนี้ต้องพึ่งสถาบันการเงิน และในยุคนี้ นายแบงก์หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นช่วงที่ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกที่สุด จากดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ และจากซอฟต์โลน หรือ เปลี่ยนใหม่เป็นสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ยืดหยุ่นสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท รวมทั้ง 2 มาตรการ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท แล้วกลุ่มไหน เหมาะกันสินเชื่อตัวไหนเราจะพาไปดูทีละตัว



เริ่มที่ สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุด ณ 12 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 72,392 ล้านบาทมีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 23,687 ราย หรือ เฉลี่ยวงเงินอนุมัติ 3.1 ล้านบาทต่อราย และผู้ประกอบการขนาดเล็ก 44.5% , ประเภทธุรกิจพาณิชย์ และบริการ 67.6%, และเป็นธุรกิจที่อยู่ต่างจังหวัด 68.5% นับว่าสอดคล้องกับความต้องการที่จะให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุน 



ผู้ประกอบการหลายรายอาจบอกว่า กู้ไม่ได้ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แต่ต้องบอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงกระทรวงการคลัง พยายามให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากที่สุด โดยการขอให้สถาบันการเงิน ที่นำเงินของแบงก์ชาติไปปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู ผ่อนคลายเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งอาจไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะยังมีความแตกต่างในการอนุมัติสินเชื่ออยู่มาก และเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือการที่ กระทรวงการคลัง โดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เข้ามาค้ำประกัน ชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้สถาบันการเงินมั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว ที่ต้องบอกว่าความเสี่ยงสูงกว่า และต้องบอกว่า "สินเชื่อฟื้นฟู เหมาะกับเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน" 



แม้ตามกฎหมาย บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ไม่เกิน 40% ของพอร์ตสินเชื่อฟื้นฟูทั้งหมด แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว หรือ ไมโครเอสเอ็มอี ที่มีสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท มีการค้ำประกันความเสียหายมากขึ้น โดยชดเชยความเสียหายถึง 90% ของวงเงินกู้ 


ขณะที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีสินเชื่อเดิมตั้งแต่ 5 ล้านบาท ไปจนถึง 50 ล้านบาท ค้ำประกันถึง 80% ของความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนกรณีที่ธุรกิจที่มีสินเชื่อเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และยังไม่สามารถประเมินรายได้ในอนาคตอันสั้นนี้ อย่างธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ให้อัตราการชดเชย 70% และสุดท้ายธุรกิจทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบ ให้อัตราการชดเชยที่ระดับ 60% ซึ่งหากไปเฉลี่ยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ที่บสย.ค้ำประกันน้อย ก็จะทำให้พอร์ตไม่เกิน 40% ตามกฎหมาย 


ส่วนธุรกิจที่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน เพื่อขอสินเชื่อ ต้องมาที่ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ล่าสุดความพยายามของกระทรวงการคลัง ร่วมกับแบงก์ชาติ เพื่อจะลดต้นทุนในการถือครองทรัพย์ และการตีโอนทรัพย์ ให้เหลือ 0 โดยจะมียกเว้นภาษี และค่าธรรมเนียมในการตีโอน และถือครองทั้งหมด ซึ่งมาตรการทางภาษีของกรมสรรพากรออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สบายใจได้ว่าไม่มีต้นทุนทั้งผู้รับโอน อย่างสถาบันการเงิน และการโอนกลับเจ้าของเดิม ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะมีผู้เข้าร่วมสินเชื่อนี้มากขึ้น 



5 ขั้นตอนในการเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ข้อแรก เจรจาเงื่อนไขกันก่อน ว่าทรัพย์ที่จะนำเข้าราคาเท่าใด ยกตัวอย่าง หากทรัพย์มีมูลค่า 120 ล้านบาท แต่ต้องการเงินแค่ 100 ล้านบาท ไปปิดหนี้ ก็กู้ 100 ล้านบาท 


หลังจากนั้นก็โอนทรัพย์ไปให้กับธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเจ้าหนี้ปิดบัญชีเงินกู้ 100 ล้านบาท ลูกหนี้ไม่ต้องจ่ายค่างวด เป็นการหยุดหนี้ทันที 


ข้อ 3 หากต้องการเช่า สถานที่ในการทำธุรกิจ ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนไกล เช่าที่เดิม เพราะค่าเช่าทั้งหมดจะหักเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแล เมื่อซื้อคืน โดยธนาคารให้สิทธิเจ้าของเดิมเช่าก่อน 


ข้อ 4 ธนาคารรับชำระค่าเช่า เหมือนเป็นการผ่อนดาวน์ เพื่อรอวันซื้อคืน และสุดท้าย เมื่อจบโครงการ ถึงเวลาซื้อคืน หรืออาจตัดสินใจไม่ซื้อคืน ธนาคารก็มีสิทธิขายให้คนอื่น 



วิธีซื้อคืนทรัพย์จากพักทรัพย์ พักหนี้ ทำอย่างไร และเท่าไร กรณีเดียวกับกราฟฟิก ที่ผ่านมาวงเงินที่เราขอสินเชื่อ วงเงิน 100 ล้านบาท เมื่อครบระยะมาตรการ 5 ปี หรือ ธปท. อาจขยายออกไป หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ราคาซื้อคืน จะเท่ากับราคาตีโอน 100 ล้านบาท บวกกับค่าดูแลทรัพย์ 1% ต่อปี เมื่อรวม 5 ปี ก็จะเป็น 5 ล้านบาท เท่ากับเราต้องจ่ายคืน 5 ล้านบาท 


แต่ในกรณีที่เราเช่าทรัพย์ตัวเองในการดำเนินธุรกิจ และจ่ายค่าเช่า แน่นอนเราจะต้องดูแลทรัพย์เราอย่างดี ดังนั้นธปท.จึงหักลงจากค่าดูแล เช่น เช่าปีละ 8 แสนบาท รวม 5 ปี เท่ากับ 4 ล้านบาท ก็จะหักกับค่าดูแล 5 ล้านบาท เหลือค่าดูแล 1 ล้านบาท เท่ากับเราต้องจ่ายเพื่อนำสินทรัพย์กลับมาที่ราคา 101 ล้านบาท 


สุดท้ายสูตรในการขออนุมัติสินเชื่อ อันนี้ออกจากปากนายแบงก์หลายราย นอกจากดูสถานะทางการเงินแล้ว 3 คำถาม ซึ่งทุกแบงก์ถามเหมือนกัน คือ ใครกู้ กู้ไปทำอะไร และจะใช้หนี้อย่างไร ถ้าตอบไม่ได้ก็ปิดประตูได้สินเชื่อ 100% ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมไป โดยเฉพาะข้อสุดท้าย การหาเงินมาใช้หนี้อย่างไรในปีนี้ และถ้าไม่ได้จะทำอย่างไรในปีถัดไป เชื่อว่า นี่คือคำตอบที่คุณ คือ เบอร์ 1 ในธุรกิจของตนเองจะตอบได้ดีที่สุด



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง