รีเซต

อดีตพนักงานเผยเฟซบุ๊กมุ่งแต่ผลกำไร ทำร้ายเยาวชน-ทำประชาธิปไตยอ่อนแอ

อดีตพนักงานเผยเฟซบุ๊กมุ่งแต่ผลกำไร ทำร้ายเยาวชน-ทำประชาธิปไตยอ่อนแอ
ข่าวสด
6 ตุลาคม 2564 ( 10:52 )
54

ฟรานเซส ฮาวเกน อดีตผู้จัดการฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก เข้าให้การต่อคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยเผยว่านโยบายในการบริหารสื่อสังคมออนไลน์ของเฟซบุ๊กนั้น "ทำร้ายเยาวชน สร้างความแตกแยก และทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง"

 

 

นางฮาวเกนวัย 37 ปีให้การดังข้างต้น หลังเปิดเผยเอกสารภายในของเฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งกับหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ซึ่งเอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแนวทางการดำเนินงานของเฟซบุ๊กนั้นไร้จริยธรรม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนให้รัฐบาลวางกฎเกณฑ์ควบคุมและตรวจสอบสื่อโซเชียลรายใหญ่ได้แล้ว หลังเฟซบุ๊กประสบความล้มเหลวในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาหลายครั้ง และไม่สามารถยับยั้งการเผยแพร่ข่าวปลอมได้

 

 

ก่อนเข้าให้การกับวุฒิสภาในวันอังคาร (5 ต.ค.) ที่ผ่านมา นางฮาวเกนให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า เอกสารภายในของเฟซบุ๊กได้เผยถึงผลวิจัย ซึ่งชี้ว่าแอปพลิเคชันอินสตาแกรมบั่นทอนทำลายสุขภาพจิตของบรรดาเด็กสาวได้

"พวกผู้บริหารรู้ดีว่าจะทำให้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมปลอดภัยต่อผู้ใช้มากยิ่งขึ้นได้อย่างไร แต่ไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะการมุ่งทำผลกำไรมหาศาลนั้นมาก่อนประชาชนเสมอ" นางฮาวเกนกล่าวต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ

 

 

เธอยังวิจารณ์นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของเฟซบุ๊กว่า มีอำนาจบริหารควบคุมกิจการของบริษัทในหลากหลายด้านมากเกินไป จนในขณะนี้ไม่มีใครสามารถตรวจสอบเขาได้นอกจากตัวของเขาเอง

 

 

"ฉันไม่รู้ว่าเพราะอะไรเฟซบุ๊กและสื่อโซเชียลในเครือถึงล่มไปนานกว่า 5 ชั่วโมงเมื่อวานนี้ แต่ฉันรู้ว่าในช่วงเวลานั้น ไม่มีการใช้เฟซบุ๊กไปสร้างความแตกแยก สั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งไม่มีการทำให้เด็กสาวและผู้หญิงรู้สึกแย่กับร่างกายของตนเอง" นางฮาวเกนกล่าวต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ "หนทางในการแก้ปัญหาคือสภาคองเกรสจะต้องเข้ามาตรวจสอบและออกกฎหมายควบคุม เราต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้"

 

 

ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารนโยบายของเฟซบุ๊กได้ออกมาแถลงตอบโต้ทางทวิตเตอร์ในภายหลังว่า นางฮาวเกนได้ให้การในเรื่องที่ตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในตอนที่ทำงานอยู่กับเฟซบุ๊ก และทางบริษัทไม่เห็นด้วยกับหลายเรื่องที่เธอได้กล่าวกับวุฒิสภาในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กเห็นพ้องด้วยว่าถึงเวลาที่จะต้องให้สภาคองเกรสเป็นผู้นำ ในการวางกฎเกณฑ์มาตรฐานของการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แล้ว

 

 

เหตุใดเฟซบุ๊ก วอตส์แอปป์ อินสตาแกรม ล่มพร้อมกันทั่วโลก

ผู้คนในหลายประเทศต่างตื่นตระหนกและวุ่นวายใจ หลังสื่อโซเชียลหลายแพลตฟอร์มไม่สามารถเข้าใช้งานได้นานถึง 6 ชั่วโมง เมื่อคืนวันจันทร์ (4 ต.ค.) ที่ผ่านมา โดยเฟซบุ๊กให้คำอธิบายถึงปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงในการตั้งค่าของเราเตอร์ (router) ตรงส่วนหลักที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลัง ทำให้การเชื่อมต่อประสานงานรับส่งข้อมูลเครือข่ายระหว่างศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ของเฟซบุ๊กล้มเหลว

 

 

ความผิดพลาดดังกล่าวยังทำให้เครือข่ายระบบอัตโนมัติ (autonomous systems) ของเฟซบุ๊ก ไม่สามารถให้ข้อมูลที่จำเป็นกับระบบ Border Gateway Protocol (BGP) ที่เปรียบเสมือนบริการไปรษณีย์ของอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้ระบบ BGP ไม่สามารถค้นหาเส้นทางเพื่อนำส่งข้อมูลจากผู้พยายามเข้าใช้งานไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งก็คือเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชันในเครือ โดยจะไม่มีบุคคลใดในโลกเข้าใช้งานได้ระหว่างช่วงเวลาที่เกิดปัญหานี้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เฟซบุ๊กต้องใช้เวลาแก้ปัญหานานถึง 6 ชั่วโมงนั้น ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยีของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์บอกกับบีบีซีว่า แม้แต่คนที่มีหน้าที่ตรวจสอบแก้ไขปัญหา ยังเข้าไปในตัวอาคารสำนักงานของเฟซบุ๊กไม่ได้อยู่นานทีเดียว ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ทราบชัดว่าปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นเป็นบั๊ก (bug) ในซอฟต์แวร์ หรือเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์กันแน่ ข่าวบางกระแสยังรายงานถึงเสียงเล่าลือที่ว่า เหตุระบบล่มครั้งนี้เป็นแผนการบ่อนทำลายจากคนวงในอีกด้วย

 

 

ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการรายงานความผิดพลาดของระบบครั้งมโหฬารจากผู้คนทั่วโลก โดยเว็บไซต์ Downdetector ระบุว่ามีการรายงานเรื่องระบบล่มดังกล่าวเข้ามาถึง 10.6 ล้านครั้ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งพาเฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการขาย ส่วนการที่แอปพลิเคชันวอตส์แอปป์ล่มก็ทำให้พนักงานบริษัทจำนวนมากที่ยังทำงานที่บ้านและติดต่องานกันทางออนไลน์ ต้องประสบปัญหาในการสื่อสาร

 

 

มีผู้ประมาณการว่าเฟซบุ๊กเองอาจสูญเสียรายได้ถึงกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่ระบบล่มในครั้งนี้ ทั้งยังทำให้มูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กตกลงเกือบ 5% อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง