รีเซต

ธุรกิจโทรคมนาคมร้องลดเก็บเงินเข้ากองทุน"ยูโซ่" ห่วงการใช้งบฯ ช่วงไร้ "บอร์ด กสทช." ชุดใหม่

ธุรกิจโทรคมนาคมร้องลดเก็บเงินเข้ากองทุน"ยูโซ่" ห่วงการใช้งบฯ ช่วงไร้ "บอร์ด กสทช." ชุดใหม่
มติชน
18 สิงหาคม 2564 ( 14:59 )
80

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า จากกรณีที่กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( บอร์ด กสทช.) ชุดใหม่ยังไม่เสร็จสิ้น รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การใช้งบประมาณในส่วนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กองทุนยูโซ่ ของสำนักงาน กสทช. อาจจะขาดการดูแลตรวจสอบอย่างรอบคอบรัดกุม และโครงการต่างๆ ที่เคยเสนอให้ดำเนินการก็เงียบหายไป

 

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีกระแสข่าวกองทุนยูโซ่เตรียมอนุมัติวงเงิน 3,000 ล้านบาทไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ดำเนินโครงการศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 คือให้ใช้หมายเลข 191 เบอร์เดียวสามารถแจ้งเรื่องต่างๆ ได้ทุกเรื่อง แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

 

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันบรรดาธุรกิจน้อย-ใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม ภาคการผลิตและภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก บทบาทของกองทุนยูโซ่น่าจะปรับเปลี่ยน เพราะเงินกองทุนยูโซ่นั้นมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ ในอัตรา 2.5% ซึ่งกองทุนยูโซ่มีรายได้ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

 

 

“ขณะนี้ประเทศเกิดวิกฤต ทางผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมอยากเสนอให้ลดเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนยูโซ่ลง อีกทั้งอยากจะเห็นการนำเงินของกองทุนยูโซ่ไปพัฒนาบริการโทรคมนาคมในท้องถิ่นทุรกันดารหรือพื้นที่ห่างไกล ที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งหลายไม่อยากเข้าไปลงทุนเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะผู้คนในระดับรากหญ้า อย่างโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(ยูโซ่เน็ต) ในพื้นที่ชายขอบ เฟสแรก 3,920 หมู่บ้าน วงเงิน 13,614.62 ล้านบาท และเน็ตชายขอบ เฟส 2 จำนวน 15,732 หมู่บ้านวงเงินอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ที่กสทช.เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการเมื่อ 3-4 ปีก่อน ซึ่งได้โอนภารกิจเหล่านี้ไปให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)รับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้านของรัฐบาลแล้ว ดังนั้นบทบาทของกองทุนยูโซ่ ในปัจจุบันจึงแทบจะไม่หลงเหลือภารกิจอะไรให้ทำแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลตรวจสอบอย่างจริงจัง “แหล่งข่าวกล่าว

 

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่าง “ซุปเปอร์บอร์ด กสทช.” หรือกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่ามีการตรวจสอบการดำเนินการของกองทุนยูโซ่แต่อย่างใด จึงรอความหวังจากคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ จะมีแนวทางเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมบ้างหรือไม่

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง