รีเซต

อดีตรมว.คลัง ตั้งคำถาม รัฐมนตรีพลังงาน(คนใหม่)เพื่อประชาชนจริงหรือ?

อดีตรมว.คลัง ตั้งคำถาม รัฐมนตรีพลังงาน(คนใหม่)เพื่อประชาชนจริงหรือ?
มติชน
6 สิงหาคม 2563 ( 17:52 )
424

อดีตรมว.คลัง ตั้งคำถาม รัฐมนตรีพลังงาน(คนใหม่)เพื่อประชาชนจริงหรือ?

เมื่อวันที่  6 ส.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามเกี่ยวกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  (เปิดประวัติ “สุพัฒนพงษ์” รองนายกฯควบรมว.พลังงาน)  โดยระบุว่า

รัฐมนตรีพลังงานเพื่อประชาชนจริงหรือ? พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่งตั้ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า เป็นการวางแผนงานด้านนโยบายและการกำกับดูแลพลังงาน เพื่อประชาชน หรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน ไม่มีธุรกิจใดที่มีปัญหาเส้นแบ่งเขตผลประโยชน์ระหว่างประชาชนกับนายทุน มากเท่ากับธุรกิจพลังงาน เพราะพลังงานเป็นผลิตภัณฑ์ที่บังคับใช้ สินค้าบริโภคทั่วไป ถ้าสินค้าใดราคาแพง ถ้านายทุนเอากำไรเกินควร ประชาชนก็สามารถเปลี่ยนไปบริโภคสินค้าอื่นแทนได้ แต่ประชาชนไม่สามารถหาทางเลือกอื่นแทนพลังงานได้ ไม่ว่าน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม หรือปิโตรเคมี

ดังนั้น ผลผลิตด้านพลังงานจึงมีลักษณะเป็น ‘บวกกันได้ศูนย์’ หรือ zero sum ถ้าเส้นแบ่งผลประโยชน์เบี่ยงไปเข้ากระเป๋านายทุนมากขึ้น ประโยชน์ต่อประชาชนก็จะน้อยลงอัตโนมัติในธุรกิจอื่นที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี หรือมีสินค้าทดแทนใกล้เคียง เส้นแบ่งผลประโยชน์จะอยู่ในจุดที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่ายโดยกลไกของตลาดเสรีแต่ในธุรกิจที่การแข่งขันไม่เสรี กรณีที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด ทางการจะต้องเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้การแบ่งผลประโยชน์เป็นธรรม

อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงชัดเจนว่า ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล รวมทั้งการกำหนดกติกา บางกรณีมีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุน หรือไม่ ตัวอย่างเช่น การเสนอยกเลิกเพดานราคาก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือน ที่หลายรัฐบาลกำหนดเพดานคุมไว้ เพราะปริมาณที่ครัวเรือนใช้นั้น เป็นปริมาณที่ผลิตจากอ่าวไทย ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานได้เสนอให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยกเลิกเพดานดังกล่าว เปลี่ยนไปอิงราคาตลาดโลกแทน แต่โดยบวกราคาขนส่งจากซาอุดิอะราเบียมาไทย ทั้งที่ไม่มีการขนส่งจริง

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของไทยที่อิงราคาสิงค์โปร บวกค่าขนส่งเทียมมาไทย ทั้งที่ไม่มีการขนส่งจริง หลักการบวกค่าขนส่งเทียมนี้ควรจะยกเลิก แต่ก็ไม่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานได้เสนอให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยกเลิกหลักการนี้แต่อย่างใด อีกเรื่องหนึ่งที่มีการขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ คือการกำหนดราคาเอทานอลเพื่อผสมเป็น Gasohol ซึ่งใช้ราคา 23 บาท/ลิตร ทั้งที่ราคาตลาดโลกต่ำกว่ามาก ที่ 10 บาท/ลิตร

ในขณะที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ใช้ราคาตลาดโลกสำหรับกลั่นน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม แต่สำหรับเอทานอล กลับยึดราคาที่ไม่ได้โยงกับสภาวะตลาด และไม่ชัดเจนว่าผลประโยชน์ส่วนต่างไปตกในกระเป๋าของเกษตรกรหรือของนายทุนผูกขาดรายใด นอกจากนี้ ถามว่าหลักการที่ ‘ยิ่งผสม ยิ่งแพง‘ จนต้องอาศัยเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยนั้น ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร? ประวัติการทำงานของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์นั้น อยู่ในกลุ่มบริษัท ปตท. มาตลอด ดังนี้ ประสบการณ์การทำงาน (5 ปีย้อนหลัง)

กุมภาพันธ์ 2559 – มิถุนายน 2563 ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด(มหาชน) กันยายน 2557 – มิถุนายน 2563 กรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ตุลาคม 2557 – กันยายน 2562 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตุลาคม 2557 – กันยายน 2562 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เมษายน 2560 – กันยายน 2562 ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) 2557 – 2562 กรรมการ บริษัท PTTGC International Private Limited

“ผมจึงแปลกใจที่พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งบุคคลที่เพิ่งลาออกจากกลุ่มบริษัท ปตท. เพียงไม่กี่วันก่อนหน้า ประชาชนจึงย่อมสงสัยได้ว่า พลเอกประยุทธ์จงใจแต่งตั้งบุคคลที่มีผลประโยชน์ขัดกันเข้าเป็นรัฐมนตรีพลังงานหรือไม่? ถ้าใช่ ก็จะเข้าข่ายเป็นการแต่งตั้งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุน อันเป็นการมองข้ามหัวประชาชนอีกครั้งหนึ่ง”นายธีระชัย ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง