รีเซต

ม.หาดใหญ่ เผยผลสำรวจ ปชช. 14 จว.ใต้ ไม่เชื่อมือ 'สุพัฒนพงษ์' คุม ศก. ห่วงม็อบปลดแอกพาดิ่ง

ม.หาดใหญ่ เผยผลสำรวจ ปชช. 14 จว.ใต้ ไม่เชื่อมือ 'สุพัฒนพงษ์' คุม ศก. ห่วงม็อบปลดแอกพาดิ่ง
มติชน
1 กันยายน 2563 ( 14:38 )
92

ม.หาดใหญ่ เผยผลสำรวจ ปชช. 14 จว.ใต้ ไม่เชื่อมือ ‘สุพัฒนพงษ์’ คุม ศก. ห่วงม็อบปลดแอกพาดิ่ง

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยว่า เราได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ 420 ตัวอย่าง ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค. พบ ดังนี้

 

เพราะราคาผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ยางพารา มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนชาวสวนยางพาราคาดหวังว่า ราคาอาจจะถึง 60 บาทต่อ กก. หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนช่วยกัน

 

เดือน ส.ค. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ “เราเที่ยวด้วยกัน” ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทั้งภาคใต้ ทั้ง ฝั่งอันดามันและอ่าวไทยกลับมาคึกคักผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว และทำให้มีการกระจายรายได้สู่แรงงาน สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับเศรษฐกิจภาคใต้เพิ่มขึ้น

 

“ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลลดลง เพราะในส่วนของภาคธุรกิจมีความกังวล และไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อหัวหน้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ คือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคโควิด-19”

 

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า โดยเฉพาะความสามารถ จะสั่งการและควบคุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ให้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันได้ เพราะหากกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำงานร่วมกันในทิศทางเดียวกันได้ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

 

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการของภาครัฐและข้อเสนอแนะ

 

นักศึกษาจบใหม่ที่ยังหางานทำไม่ได้ และพนักงานที่ถูกให้ออกจากงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่วนหนึ่งต้องการเงินทุนสนับสนุน ซึ่งอาจเป็นเงินช่วยเหลือให้ฟรี เงินกู้ยืมไม่มีดอกเบี้ย หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการประกอบกิจการเล็ก ๆ เพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในช่วงโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดหนักทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อภาคธุรกิจทำให้การจ้างงงานในหลากหลายสาขาอาชีพมีจำนวนน้อยลงมาก

 

ผู้ประกอบการในภาคใต้ส่วนหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจแบบเดิม ต้องปิดกิจการลงจำนวนมาก โดยเฉพาะใน อ.หาดใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภาคใต้ เนื่องจากเกิดสภาวะที่ธุรกิจถูกทำให้หยุดชะงักในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว (Digital Disruption)

 

เนื่องจากผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์จำนวนมากขึ้น ทำให้กิจการในตลาด สันติสุข กิมหยง ในอดีตเคยเป็นแหล่งช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเป็นจุดขายของเมืองหาดใหญ่ ปัจจุบันกิจการจำนวนหนึ่งต้องปิดตัวลง และที่เปิดอยู่บ้างยอดขายลดลงเป็นอย่างมาก

 

ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องการสร้างโอกาสในอาชีพใหม่ ๆ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งขอให้ภาครัฐ จัดทำโครงการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ให้การสนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

 

“ประชาชนภาคใต้เสนอให้ภาครัฐออกนโยบายที่เป็นข้อกำหนดในเรื่องแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอย่างชัดเจน ให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น 1 ปี ระยะกลาง 3 ปี และระยะยาว 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดตนเอง โดยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดที่จัดทำขึ้น จะต้องดำเนินไปตามแผนจนครบ 5 ปี เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง แม้มีการเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ต้องมาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ”

 

มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมาจากตัวแทนของภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนในจังหวัดนั้น ให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงตรวจสอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หากจะมีการปรับเปลี่ยนแผนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

 

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมีความกังวลจากระแสข่าวว่า ภาครัฐจะมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงเดือน ต.ค.การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศยังมีจำนวนมาก ไม่อยากให้คนไทยต้องมาเสี่ยงกับโควิด-19

 

“หากมีความจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ภาครัฐควรมีมาตรการที่รัดกุม และต้องให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ว่าจะไม่ทำให้ประเทศไทยต้องมาเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2 เพราะหากเกิดขึ้นจริง ประชาชนมองว่า รัฐบาลไม่มีเงินที่จะมาช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบได้”

 

ภาคธุรกิจเอกชนมีความกังวลว่า การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก หากมีความยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้าง อาจส่งผลและตอกย้ำเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้ให้ทรุดลงไปอีก จึงวอนภาครัฐหาวิธีการในรูปแบบประนีประนอม โดยให้นักวิชาการทำการศึกษาเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และการเข้าไปเจรจาพูดคุยกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในแต่ละกลุ่ม ที่เป็นกลุ่มพลังบริสุทธิ์ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

 

“นักเรียน และนักศึกษาภาคใต้ส่วนหนึ่ง ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา โดยให้มีการปฏิรูปการศึกษาไทย ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่นักเรียน นักศึกษามากขึ้น ในการแสดงความคิดเห็นในสถานศึกษาได้และ มีช่องทางให้นักเรียน นักศึกษาสามารถส่งข้อร้องเรียนถึงผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ เพื่อให้ปัญหาของนักเรียน นักศึกษาที่เป็นความกังวล ความเครียด ซึ่งถูกเก็บกดมาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วไม่ตกงาน และมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพ”

 

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.30 รายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.70 รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.60 และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.20

 

ความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.40 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.70 และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ27.60

 

“ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพร้อยละ 25.20 รองลงมาราคาสินค้าสูง ร้อยละ 22.60 และ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำร้อยละ 12.80 ปัญหาเร่งด่วนรัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือ คือ ค่าครองชีพและราคาสินค้าสูง”ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง