พลังงานเตรียมประมูลปิโตรเลียม ดัน 'อี20' เบนซินหลัก-เลิกโซฮอล์91
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายพลังงาน ปี 2564 กระทรวงพลังงานได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานไทยใน 3 ด้านหลักสำคัญ คือ ด้านการสร้างพลังงานเข้มแข็ง จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาของภาครัฐ และเป็นกรอบการลงทุนที่ชัดเจนของภาคเอกชน ผลักดันความชัดเจนเรื่องลดสำรองไฟฟ้า ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เดินหน้าส่งเสริมแข่งขันเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า
กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นการใช้ไฟฟ้า รวมถึงเตรียมความพร้อมการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (โอซีเอ) กลับมาทำให้ชัดเจน โดยประสานกับกระทรวงต่างประเทศ กำหนดการส่งเสริมการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4 ในพื้นที่อีอีซี และในปีหน้าจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน 55,000 ล้านบาท ทั้งในพื้นที่อีอีซี และทั่วประเทศไทย
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จะกระตุ้นยอดขายน้ำมันดีเซล บี10 กำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินหลัก โดยผลักดันให้โรงกลั่นผลิตจีเบส (G-base) ให้ ได้ตามมาตรฐานภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และร่วมขับเคลื่อนโครงการชุมชนทั่วประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กว่า 2,400 ล้านบาท และด้านการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด โดยจะเร่งรัดการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ส่งเสริมกระตุ้นการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ รวมกว่า 900 เมกะวัตต์ ส่งเสริมการใช้โซลาร์รูฟท็อปให้เติบโต 100 เมกะวัตต์ ริเริ่มเอสโค (ESCO) ภาครัฐ เพื่อลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ให้ลดลง 30% ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดการลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าในภาพรวมของการขับเคลื่อนนโยบายในปี 2564 ดังกล่าว จะสามารถสร้างเม็ดเงินลงทุนให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 127,932 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับการระบาดโควิด-19 รอบใหม่นี้ ยังไม่ได้ขยายไปไกลมากนัก ไม่เหมือนกับการแพร่ระบาดในช่วง มีนาคม เมษายน ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานมีความพร้อมอยู่เสมอ สำหรับมาตรการเยียวยาให้กับประชาชน โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้อำนาจแก่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาการเยียวยาให้กับประชาชน ทั้งนี้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวในการป้องกันโรคอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าการระบาดรอบใหม่จะควบคุมได้เป็นอย่างดี ส่วนการยกเลิกการใช้งานแก๊สโซฮอล์ 91 จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนน้อย ซึ่งจะมีการสนับสนุนให้เปลี่ยนไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 แทน