NASA เตรียมบินเครื่องบินขับไล่ F-15 จับคลื่นกระแทกของ X-59
นาซา (NASA) ตั้งเป้าเที่ยวบินประวัติศาสตร์ เตรียมส่งเครื่องบินขับไล่ F-15 บินผ่านคลื่นกระแทก หรือ shockwaves ของเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงเอ็กซ์ ฟิพตี้ไนน์ (X-59) เพื่อวัดเสียงที่เกิดขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ที่ตั้งเป้าทำให้เกิดเสียงรบกวนขณะบินที่น้อยลง เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานเครื่องบินประเภทนี้ในเชิงพาณิชย์
เครื่องบินลำนี้ มีความยาวอยู่ที่ 30.4 เมตร มีปีกกว้าง 9 เมตร และมีจมูกเครื่องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ให้มีความบางและเรียวยาว โดยมีความยาวเกือบหนึ่งในสาม ของความยาวทั้งหมดของเครื่องบิน
จมูกที่ยาวเรียวนี้ เป็นคุณลักษณะที่ออกแบบมาเฉพาะ เพื่อใช้กระจายคลื่นกระแทกที่จะล้อมรอบเครื่องบินที่มีความเร็วเหนือเสียงขณะบินด้วยความเร็วสูง และส่งผลให้เกิด โซนิค บูม (sonic booms) หรือเสียงที่ดังสนั่นหวั่นไหวคล้ายเสียงฟ้าผ่า ให้เหลือเพียงเสียงที่ไม่ดังไปกว่าเสียงปิดประตูรถเท่านั้น
ในส่วนหนึ่งของการทดสอบรอบถัดไป นาซาประกาศว่าได้ออกแบบตัววัดคลื่นกระแทกรูปทรงกรวยที่พัฒนาขึ้น เพื่อจับคลื่นกระแทกที่ X-59 จะสร้างขึ้น โดยจะติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ F-15B ที่จะบินตามเครื่องบิน X-59 ซึ่งตัวหนึ่งใช้จับคลื่นกระแทกใกล้กับบริเวณที่ X-59 จะสร้างขึ้น ในขณะที่อีกตัวใช้จับคลื่นกระแทกที่ระดับความสูงราว 1,530 - 6,000 เมตรใต้เครื่องบิน
ในระหว่างเที่ยวบินทดสอบ ตัววัดคลื่นกระแทกจะรวบรวมตัวอย่างหลายพันตัวอย่างต่อวินาทีอย่างต่อเนื่อง จับการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศขณะบินผ่านคลื่นกระแทก ข้อมูลจากเซ็นเซอร์จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตรวจสอบยืนยันแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ที่คาดการณ์ความแรงของคลื่นกระแทกที่สร้างขึ้นโดย X-59 ซึ่งการรวบรวมข้อมูลที่แม่นยำนี้ จะช่วยให้นาซา สามารถปรับแต่งการออกแบบของเครื่องบิน ให้บินด้วยเสียงรบกวนที่เงียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อเที่ยวบินทดสอบเสร็จสิ้น X-59 มีแผนที่จะทำการบินผ่านหลายเมืองทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อรวบรวมความคิดเห็นสาธารณชน เกี่ยวกับเสียงที่มันสร้างขึ้นขณะบินผ่าน เพื่อส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ในการพิจารณายกเลิกคำสั่งห้ามใช้งานเครื่องบินประเภทนี้ในเชิงพาณิชย์ ปูทางไปสู่ยุคของการเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียง
ข้อมูลจาก newatlas, nasa.gov, scitechdaily