รีเซต

พบอีก!รอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ ยุค 'ไทรแอสซิก' ตอนปลาย อายุกว่า 210 ล้านปี

พบอีก!รอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ ยุค 'ไทรแอสซิก' ตอนปลาย อายุกว่า 210 ล้านปี
มติชน
20 ตุลาคม 2565 ( 11:00 )
83

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จ.เพชรบูรณ์ ยังมีการค้นพบความมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีการพบซากดึกดำบรรพ์ รอยตีนของสัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวน 3 รอย ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย อายุประมาณ 210 ล้านปี โดยรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์มีกระดูกสันหลังดังกล่าว ถูกค้นพบบนหินในลำห้วยตาดฟ้า ใกล้หมู่บ้านดงสะคร่าน เขตรอยต่ออำเภอน้ำหนาวจังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาทางศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ จังหวัดขอนแก่นและเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้เข้าพื้นที่ เพื่อทำการสำรวจและตรวจสอบพื้นที่และรอนตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุดได้มีรายงานแจ้งผลการตรวจสอบในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

นายวิศัลย์ กล่าววต่อว่า สำหรับความน่าสนใจของซากดึกดำบรรพ์ รอยตีนของสัตว์มีกระดูกสันหลัง จํานวน 3 รอยดังกล่าว เบื้องต้นสันนิษฐานว่า จากลักษณะรอยตีนเป็นการเคลื่อนที่ด้วยตีนหลังสองตีน ไม่พบรอยตีนหน้า มีจํานวนนิ้ว 4 นิ้ว ขนาดความยาวจากนิ้วที่สอง ถึงอุ้งตีน ประมาณ 15 เซนติเมตร ลักษณะนิ้วทู่ ไม่แหลม ไม่แสดงลักษณะรอยเล็บ มีตะกอนทรายแทรกตามรอยซากดึกดําบรรพ์ ยังไม่สามารถจําแนกชนิดของสิ่งมีชีวิตได้ และรอยตีนทั้ง 3 รอย ที่พบอยู่ในลําห้วยตาดฟ้านั้นอยู่บนชั้นหินโคลนสีเทาดํา แสดงชั้น planar bedded ชั้นหนาประมาณ 10 ซม. อยู่ในหมู่หินตาดฟ้า (Tad Fa member) ของหมวดหินห้วยหินลาด ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (Carnian-Norian) (Chonglakmani and Sattayarak, 1978) คาดว่ามีอายุประมาราว 210 ล้านปี

 

“สำหรับรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พบนั้น จากรายงานของทีมสำรวจชี้ว่า สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นแหล่งซากดึกดําบรรพ์ที่มีความน่าสนใจสูง เนื่องจากเป็นซากดึกดําบรรพ์ร่องรอยที่มีความสมบูรณ์ มีอายุในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย ซึ่งจากข้อมูลที่เคยมีการ ศึกษาวิจัย อาจเป็นรอยทางเดินของไดโนเสาร์กลุ่มโปรซอโรพอด และอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับแหล่งท่องเที่ยวที่ มีชื่อเสียง เช่น น้ําตกตาดใหญ่ ทั้งนี้ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”นายวิศัลย์กล่าว

 

ผู้ทรงคุณวุฒิ อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ กล่าวอีกว่า ที่น่าแปลกของรอยตีนที่พบคือเล็บทู่ จึงไม่แน่ใจว่าเป็นไดโนเสาร์หรือสัตว์เลื้อยคลานธรรมดา จึงต้องมีการศึกษาในภายภาคหน้ากันต่อไป อย่างไรก็ตามหากเป็นการพบเพียงรอยเดียวอาจจะไม่ปักใจเป็นรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ แต่ทั้งนี้มีการพบถึง 3 รอยเป็นการก้าวย่างในระยะที่เท่าๆกัน ก็เลยเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาค้นคว้าต่อไป เพราะหากเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ประเภทเลื้อยคลานจะมี 4 ตีนโดยมีทั้งรอยตีนหน้าและหลัง เหมือนรอยตีนอาร์โคซอร์ที่เคยพบก่อนหน้านี้ แต่รอยตีนที่พบมีแค่รอยตีนหลังไม่มีรอยตีนหน้าก็เลยเป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มโปรโซโลพอตก็ได้แต่ทำไมไม่มีเล็บตีน ก็เลยต้องศึกษากันต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง